คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816-2822/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลแรงงานตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ที่อนุญาตให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ มีผลเป็นเพียงคำอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันได้โดยทันที แต่เป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างได้และนายจ้างต้องออกคำสั่งเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานได้อนุญาตแล้ว สัญญาจ้างจึงจะเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรงต่อลูกจ้างว่านายจ้างมีความประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น การยื่นคำร้องขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการแสดงเจตนาต่อโจทก์การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ต่อมาตามคำสั่งของศาลแรงงาน โดยโจทก์มิได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตาม มาตรา 583 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง คดีอยู่ระหว่างพิจารณา จำเลยได้มีคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่กำหนดให้เป็นต้นไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 แล้ว และเป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์พิจารณาเลือกวันหยุดเอาเองตามความสะดวกและเหมาะสม เมื่อโจทก์ไม่ยอมหยุดตามที่จำเลยกำหนดไว้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๘ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่ค้างชำระ ค่าเบี้ยขยัน ค่าเช่าบ้าน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๖ เป็นลูกจ้างประจำระดับหัวหน้าพนักงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันโจทก์ทุกคนใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ครบ ๑๘ วันแล้วเหตุเลิกจ้างเนื่องจากเดิมโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งมีเงินเดือนสูง และความรู้ความสามารถจำกัดจำเลยจึงไม่อาจจัดตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสมให้ทำได้ จำเลยจึงร้องขอเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางได้อนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างได้ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ด เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๘ โดยจ่ายค่าชดเชย และเป็นกรณีไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ค่าเบี้ยขยันค่าเช่าบ้านให้โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๖ ค่าเบี้ยขยันให้โจทก์ที่ ๔ ค่าเช่าบ้านให้โจทก์ที่ ๕ และที่ ๗ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๓
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งอนุญาตให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างได้ หลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ๑ วัน จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้ ปัญหาแรกมีว่าการเลิกจ้างรายนี้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ หรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นบทคุ้มครองลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง การเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างจึงต้องผ่านการพิจารณาจากศาลแรงงานเสียก่อนว่ามีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้หรือไม่เพื่อให้พ้นจากการกลั่นแกล้งของนายจ้าง คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแรงงานตามนัยนี้จึงมีผลเป็นเพียงคำอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนนายจ้างให้เลิกจ้างกันได้โดยทันทีแต่อย่างใดหรืออีกนัยหนึ่งคำสั่งหรือคำพิพากษาที่อนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเพียงให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างได้เท่านั้นนายจ้างจะใช้สิทธินี้ต่อไปหรือไม่ก็ย่อมแล้วแต่ความประสงค์ของนายจ้าง ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างได้แล้วสภาพการจ้างยังคงมีอยู่ นายจ้างมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานได้อนุญาตแล้ว สัญญาจ้างแรงงานจึงจะเป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งมิได้มีบทยกเว้นไว้แต่อย่างใดว่า การเลิกจ้างในกรณีเช่นนี้นายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้ การบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรงต่อลูกจ้างว่านายจ้างมีความประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลแรงงานกลางเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงวิธีการที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก การยื่นคำร้องขอดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาต่อโจทก์ทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๘ ก่อนวันจ่ายเงินเดือน ๒ วันโดยโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ และมิได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
ปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.๑๐ ให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปโดยมิได้กำหนดให้หยุดในวันใดให้เป็นที่แน่นอนและโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ ดังนั้น กรณีที่จำเลยได้มีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.๑๐ ให้โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดพักผ่อนประจำปีโดยกำหนดให้หยุดตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ ดังกล่าวข้างต้นแล้วและเป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์ทั้งเจ็ดพิจารณาเลือกวันหยุดเอาเองตามความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละคน เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ยอมหยุดตามที่จำเลยกำหนดไว้เช่นนี้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๕,๘๐๘ บาท ๘,๓๔๑ บาท ๔,๔๐๕ บาท ๓,๖๘๕ บาท ๑๑,๓๔๙ บาท ๙,๗๗๐ บาท และ๕,๒๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึง โจทก์ที่ ๗ ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share