คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2814/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมากแต่ศาลอุทธรณ์ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน2ปีและปรับไม่เกิน40,000บาทย่อมห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา219ดังนี้ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยปลอมเอกสารต่างๆเพื่อกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการจำกัดกับการปลอมเช็คเพื่อนำเข้าบัญชีของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ใช่ความผิดกรรมเดียวกันการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน การที่จำเลยปลอมเอกสารต่างๆเพื่อกู้เงินและปลอมเช็คเพื่อนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องโดยเจตนาเดียวกันเพื่อให้จำเลยได้เงินกู้จากสหกรณ์ในนามของผู้เสียหายการที่สหกรณ์จ่ายเงินให้เป็นเช็คจำเลยจะยังไม่ได้เงินจนกว่าจะได้รับเงินตามเช็คดังนี้การที่จำเลยปลอมเช็คก็เพื่อให้ได้รับเงินมาเป็นของจำเลยสมดังเจตนาที่วางไว้แต่ต้นทั้งหมดนั่นเองการกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 90, 91, 33 คืนเช็คของกลาง 1 ฉบับแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ริบของกลางที่เหลือทั้งหมด
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมคำขอกู้เงิน ปลอมหนังสือกู้เงิน ปลอมหนังสือค้ำประกันปลอมหนังสือมอบอำนาจรับเงินกู้ กระทงหนึ่ง และปลอมเช็คซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอีกกระทงหนึ่งลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265ทั้งสองกระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 4 ปี คืนเช็คของกลางแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ริบของกลางที่เหลือทั้งหมด
จำเลย อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพและขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสองประกอบมาตรา 365 ที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ลดโทษให้โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ยังลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ย่อมห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ดังนี้ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยปลอมเอกสารต่าง ๆเพื่อกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัดกับการปลอมเช็คเพื่อนำเข้าบัญชีของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ไม่ใช่ความผิดกรรมเดียวกัน การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยปลอมและใช้แบบคำขอกู้ หนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญหนังสือค้ำประกันสำหรับเงินกู้สามัญเพื่อแสดงว่า ผู้เสียหายขอกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัดโดยมีนายจำลองและนายสงุ่นเป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อสหกรณ์อนุมัติให้ผู้เสียหายกู้แล้ว จำเลยได้ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจเพื่อแสดงว่าผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้นางรุณีรับเงินจากสหกรณ์ สหกรณ์ได้จ่ายเงินกู้เป็นเช็คให้ผู้เสียหายโดยมอบให้นางรุณีนำไปมอบแก่จำเลยและจำเลยได้ปลอมและใช้เช็คดังกล่าวเพื่อแสดงว่าผู้เสียหายสลักหลังเช็คโอนให้จำเลยเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย เห็นว่า การที่จำเลยปลอมเอกสารต่าง ๆ เพื่อกู้เงินและปลอมเช็คเพื่อนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องโดยเจตนาเดียวกันเพื่อให้จำเลยได้เงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด ในนามของนายเสนอผู้เสียหายการที่สหกรณ์จ่ายเงินให้เป็นเช็ค จำเลยจะยังไม่ได้เงินจนกว่าจะได้รับเงินตามเช็คดังนี้ การที่จำเลยปลอมเช็คก็เพื่อให้ได้รับเงินมาเป็นของจำเลยสมดังเจตนาที่วางไว้แต่ต้นทั้งหมดนั่นเอง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
พิพากษายืน

Share