แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์โดย ถ. ผู้มีชื่อในโฉนดที่พิพาทลงชื่อในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ส่วนหนึ่งนั้น มิใช่เป็นการนำสืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่เป็นการนำสืบพยานในข้อพิพาท ระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทน จึงมิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ โจทก์นำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกของจำเลยและให้ใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยครึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 จะเป็นผู้เยาว์คดีนี้ก็มิใช่คดีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน มาตรา 8(3) แก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 63 พ.ศ. 2515 ข้อ 1
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 11 ให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ตามส่วน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่า การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์ โดยนายถา อำสัมฤทธิ์ ผู้มีชื่อในโฉนดที่พิพาทลงชื่อในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ส่วนหนึ่งนั้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์นำสืบเช่นนั้น มิได้นำสืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ ตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 แต่เป็นการนำสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือโจทก์นำสืบได้ไม่ต้องห้าม
ที่จำเลยฎีกาว่า รายงานการประชุมวันที่ 6 กรกฎาคม 2513 รายงานการประชุมใหญ่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2513 และบันทึกเรื่องที่ดินพิพาท วันที่ 3 พฤษภาคม 2519 พร้อมด้วยแผนที่แสดงการเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ลงนามไว้นั้นไม่ผูกพันจำเลย เพราะจำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายถา อำสัมฤทธิ์ ไม่มีอำนาจตกลงตามรายงานนั้นและจำเลยที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์ ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยลำพังนั้น เห็นว่าข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ทำในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ในการจัดสรรที่ดินพิพาทสืบต่อจากนายถา อำสัมฤทธิ์ จึงมีสิทธิตกลงเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และทำในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องการทำนิติกรรมเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 และไม่ใช่เรื่องประนีประนอมยอมความ จึงทำได้ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวจึงผูกพันจำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ จะฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้มิใช่คดีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8(3) ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 63 พ.ศ. 2515 ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ชอบแล้ว”
พิพากษายืน