คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2791/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินบำเหน็จเป็นสิทธิที่เกิด ขึ้นโดยระเบียบเดิม เจตนาของโจทก์จำเลยในการทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักการในการจ่ายเงินบำเหน็จจากระเบียบเดิมโดยให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปีให้แก่ลูกจ้างก็เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปใช้ประโยชน์ก่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบเดิมเฉพาะระยะเวลาการจ่ายเงินบำเหน็จเท่านั้น ส่วนสาระสำคัญอื่น ๆ เป็นไปตามเดิมการที่ระเบียบเดิมกำหนดว่า ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยอย่างเดียวมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ่ายเงินบำเหน็จจำเลยมีสิทธินำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้
โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทสุรามหาคุณจำกัด ก่อนเป็นลูกจ้างจำเลยโดยมิได้นับระยะเวลาทำงานติดต่อกัน ถือได้ว่า บริษัทสุรามหาคุณ จำกัดกับจำเลยมิได้โอนการจ้างแก่กัน การนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์เพื่อคำนวณค่าชดเชยที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยต้องนับแต่วันที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เงินบำเหน็จที่จะถือว่าเป็นค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายไปแล้วก็คือเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายไปตั้งแต่ปีที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลย ส่วนเงินบำเหน็จที่บริษัทสุรามหาคุณจำกัด จ่ายไปก่อนหน้านั้นเป็นการจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนของบริษัทสุรามหาคุณ จำกัดเองจะนำระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด มาคำนวณเป็นค่าชดเชยรวมกับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าก่อนหน้าจะเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ต่อมารับโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตามความผูกพันในสัญญาเช่าโรงงานสุรา ระเบียบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่ากำหนดว่าในกรณีพนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานและเงินบำเหน็จตามระเบียบ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่าจำนวนเงินชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว จำเลยจึงมีสิทธินำเงินบำเหน็จมารวมคำนวณว่ามีจำนวนมากหรือน้อยกว่าเงินชดเชย เมื่อเงินบำเหน็จที่โจทก์รับไปแล้วมากกว่าเงินชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย การจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยรวมอยู่ด้วย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินบำเหน็จเกิดขึ้นตามระเบียบเดิม เมื่อโจทก์จำเลยทำข้อตกลงเปลี่ยนแปลงระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จเดิมเป็นรับเงินตัดตอนเป็นรายปี เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะระยะเวลาการจ่ายเงินบำเหน็จเท่านั้น ส่วนสาระสำคัญอื่น ๆ ย่อมเป็นไปตามระเบียบเดิม ทั้งระบุรับรองว่าเงินบำเหน็จที่ทำข้อตกลงกันคือเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิม ดังนั้นระเบียบเดิมที่กำหนดว่าถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชย ซึ่งมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ่ายเงินบำเหน็จ จึงยังคงใช้บังคับอยู่จำเลยมีสิทธินำระเบียบเดิมดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้
โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด มาก่อนที่จะเป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้นับระยะเวลาการทำงานติดต่อกัน ถือว่าบริษัทสุรามหาคุณ จำกัดกับจำเลยมิได้โอนการจ้างแก่กัน การนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์เพื่อคำนวณค่าชดเชยที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยต้องนับแต่วันที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลย เงินบำเหน็จที่จะถือว่าเป็นค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายไปแล้วก็คือเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายไปตั้งแต่ปีที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย ส่วนเงินบำเหน็จที่บริษัทสุรามหาคุณ จำกัด จ่ายไปก่อนหน้านั้นเป็นการจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนของบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เอง สำหรับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด จะนำมาถือว่าเป็นค่าชดเชยสำหรับระยะเวลาการทำงานกับจำเลยหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนที่สูงกว่าค่าบำเหน็จซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลย
พิพากษาแก้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์บางคน

Share