แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงการต่ออายุสัญญาจ้างโดยไม่ชักช้าตามที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันข้อ 2 ตอนท้ายก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อนี้ เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยไม่หลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคสอง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ต่ออายุสัญญาออกไป โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2533 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไปเพราะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์ แต่โจทก์มิได้เจตนาประสงค์จะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยพ้นจากความรับผิด ถึงจำเลยจะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยังคงต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยจะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต และจำเลยคืนหลักประกันไปจำเลยก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 666,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิด สัญญาจ้างเหมาครบกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบถึงการต่ออายุสัญญาจ้างเหมาออกไป เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยปฏิเสธความรับผิดมาโดยตลอด โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 666,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันที่ 23 มีนาคม 2532 จำเลยได้รับต้นฉบับหนังสือค้ำประกันคืนจากห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจ และได้คืนหลักประกันเงินฝากประจำจำนวน 666,200 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจไป โจทก์ไม่ได้แจ้งการต่ออายุสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่จำเลยทราบ จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสารหนังสือค้ำประกันก่อนเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ทั้งไม่ได้แจ้งเรื่องการต่ออายุสัญญาให้แก่จำเลยทราบเพื่อจำเลยจะได้พิจารณาต่ออายุหนังสือค้ำประกันและเรียกค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำเลยจึงไม่ผูกพันในการต่ออายุสัญญาจ้างของโจทก์ จำเลยในฐานะผู้ออกหนังสือค้ำประกันจึงผูกพันตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยถึงวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้ โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ข้อความในหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 ระบุว่า ข้าพเจ้ายอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจ โดยเพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น เป็นการที่จำเลยยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจ ฉะนั้น จึงถือว่าการที่โจทก์อนุมัติต่ออายุตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจนั้นได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้ค้ำประกันแล้ว แม้จะมีข้อความในตอนท้ายที่ระบุว่า โดยเพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น และโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงการต่ออายุสัญญาจ้างก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ 2 นี้ เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยไม่หลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคสอง ส่วนที่ว่าโจทก์ต่ออายุสัญญาจ้างเหมาโดยไม่ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันนั้น ปรากฏตามหนังสือค้ำประกันข้อ 3 ระบุว่า ข้าพเจ้าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันในระหว่างเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจต้องรับผิดชอบอยู่ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ดังนั้น ตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจยังต้องรับผิดชอบอยู่ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างจำเลยก็ยังคงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกัน จำเลยจึงต้องผูกพันตามหนังสือค้ำประกันในระยะเวลาที่โจทก์อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารออกไป ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดตามหนังสือค้ำประกันชำระค่าปรับและค่าเสียหายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจต้องรับผิดต่อโจทก์จากการที่โจทก์จ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อ และค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยทรัพย์สิน ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ต่ออายุสัญญาออกไป โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2533 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่าจำเลยต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจนำหนังสือค้ำประกันมาคืนแก่จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจหมดภาระค้ำประกันกับโจทก์แล้ว และคืนหลักประกันให้ไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจไปเพราะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์ แต่โจทก์มิได้มีเจตนาประสงค์จะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจและจำเลยพ้นจากความรับผิด ถึงจำเลยจะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวหาได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใดไม่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจยังคงต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 จำเลยจะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลมานะกิจผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต และจำเลยคืนหลักประกันไป จำเลยก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน อันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึงมาตรา 701 จำเลยจึงต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันชำระเงินจำนวน 666,200 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน