คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่าเมื่อพนักงานของจำเลยผู้ใดทำงานครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีขึ้นไปจึงจะมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้แต่ละปีตามจำนวนวันที่กำหนดไว้ และเมื่อมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้แล้ว หากลาออกจากงานหรือมีการเลิกจ้าง จำเลยก็จะจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้ ซึ่งจะกระทำในกรณีจำเป็น และต้องได้รับอนุมัติจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยก่อน แต่กรณีของโจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่ายังทำงานไม่ครบหนึ่งปี ไม่มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีกรณีที่กรรมการผู้จัดการของจำเลยจะอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ได้แม้ตามเอกสารที่จำเลยทำขึ้นจะมีข้อความว่า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ก็ตาม จำเลยก็มีสิทธิที่จะนำสืบได้ว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้นความจริงแล้วเป็นการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ เพราะกรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ถูกต้องแล้วแต่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ายังไม่ครบถ้วนตามกฎหมายขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินที่เหลือให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่าได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ครบถ้วนแล้วขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าแม้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ทั้งสองจะยังไม่มีเพราะทำงานไม่ครบหนึ่งปีก็ตาม แต่จำเลยก็ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองไปตามคำสั่งอนุมัติของกรรมการผู้จัดการของจำเลยโดยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงเป็นการจ่ายที่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับนั้น เห็นว่าระเบียบข้อบังคับดังกล่าว แสดงว่า เมื่อพนักงานของจำเลยผู้ใดทำงานครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีขึ้นไปแล้วก็มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้แต่ละปีตามจำนวนวันที่กำหนดไว้และเมื่อมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว หากลาออกจากงานหรือมีการเลิกจ้าง จำเลยก็จะจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้ซึ่งจะกระทำในกรณีจำเป็นและต้องได้รับอนุมัติจากกรรมการผู้จัดการของจำเลยก่อน แต่กรณีของโจทก์ทั้งสองนี้ยังทำงานไม่ครบหนึ่งปีไม่มีสิทธิที่จะลาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีกรณีที่กรรมการผู้จัดการของจำเลยจะอนุมัติให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองได้

ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า เมื่อเอกสารที่จำเลยทำขึ้นมีข้อความชัดเจนว่าจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนแล้ว การที่จำเลยนำสืบว่าความจริงแล้วการจ่ายเงินตามเอกสารดังกล่าวเป็นการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ย่อมเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารจะกระทำมิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า กรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างนั้น กฎหมายหาได้บังคับให้ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกันไม่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำสืบว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองทั้งสองครั้งแรกนั้นความจริงแล้วเป็นการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

พิพากษายืน

Share