แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สหกรณ์จำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกโดยร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ด้วยกัน โดยสมาชิกในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมลงหุ้นและรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วนำมาให้สมาชิกกู้โดยคิดดอกเบี้ย หากมีเงินทุนเหลือก็จะนำไปให้สหกรณ์อื่นกู้ จำเลยมีรายได้เป็นค่าธรรมเนียมจากการเข้าเป็นสมาชิกและดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกและสหกรณ์อื่นกู้ยืม เมื่อมีกำไรก็จัดสรรเป็นเงินทุนสำรอง ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์และจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่สมาชิกในรูปเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับจ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่อันเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจจำเลยจึงมิใช่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ตามข้อ (3) แห่งกฎกระทรวงฯ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯจึงต้องนำมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่องานที่จำเลยจ้างโจทก์มิใช่การจ้างในโครงการเฉพาะที่มิใช่ปกติทางธุรกิจ มิใช่งานตามฤดูกาล แต่เป็นการทำงานตามปกติธุรกิจของจำเลย แม้การจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นโจทก์ก็มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งทำงานมาแล้ว 2 ปี จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามมาตรา 118(2) พร้อมดอกเบี้ย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 จำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ สัญญามีกำหนดการจ้างเป็นเวลา 2 ปี โดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 37,400บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งครบกำหนดสัญญาจ้างจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาจ้างให้กับโจทก์ทั้งสี่สามารถต่อสัญญาได้ กลับบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 112,200 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 13 พฤศจิกายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการอันเป็นการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทำกิจการประเภทมุ่งหากำไรดังเช่นการประกอบธุรกิจทั่วไป กรณีของโจทก์เป็นการจ้างงานที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน และการเลิกจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่ชัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสาม จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่นั้น คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าลักษณะกิจการของจำเลยเป็นอย่างไร ในการดำเนินการตามกิจการของจำเลยมีการเรียกค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดจากสมาชิกหรือผู้ที่มาติดต่อหรือไม่ และจำเลยจัดการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ที่เหลือจากการดำเนินการดังกล่าวอย่างไร ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511ปัจจุบันใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 บังคับ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิก โดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ด้วยกันในเรื่องต่าง ๆรวม 18 ประการ มีคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการทั้งปวงของจำเลยให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้แทนของจำเลยในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก มีผู้จัดการทำหน้าที่จัดการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ รวมทั้งกิจการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2542 ข้อ 2 ข้อ 50 และข้อ 76ในการประกอบกิจการนั้น ทุนดำเนินการได้รับมาจากสมาชิกในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมลงหุ้นกันและรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วนำเงินดังกล่าวมาให้สมาชิกกู้โดยคิดดอกเบี้ยหากเงินทุนไม่พอให้สมาชิกกู้ จำเลยจะขอกู้เงินจากสหกรณ์แห่งอื่นมาให้สมาชิกกู้แทนและหากมีเงินทุนเหลือจะนำไปให้สหกรณ์แห่งอื่นกู้ นอกจากนี้จำเลยยังเคยทำธุรกิจรับโอนสิทธิเรียกร้องจากผู้ว่าจ้างหรือผู้ขายสิ่งของให้แก่การประปานครหลวง แต่ปัจจุบันได้เลิกธุรกิจนี้แล้ว ในการดำเนินกิจการของจำเลยมีการเรียกค่าใช้จ่ายโดยสมาชิกเมื่อเริ่มเข้าจะเสียค่าธรรมเนียมคนละ 10 บาท สมาชิกที่ออกไปแล้วหากกลับเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จะเสียค่าธรรมเนียมคนละ 200 บาท ในธุรกิจรับโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจะเรียกดอกเบี้ยจากผู้โอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และถือเป็นรายได้ของจำเลย ส่วนธุรกิจนำเงินหุ้นออกให้สหกรณ์อื่นกู้นั้น จำเลยจะเรียกดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน การจัดการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ที่เหลือจากการดำเนินกิจการนั้น หากผลประกอบกิจการของจำเลยปีใดมีกำไรสุทธิจำเลยจะจัดสรรเป็นเงินทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ จัดสรรเป็นเงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิส่วนที่เหลือจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่สมาชิก ได้แก่เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน เงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่และอื่น ๆ การรับฝากเงินจากสมาชิกจำเลยจะให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกผู้ฝากเงินเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้นจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกโดยวิธีร่วมกันดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ด้วยกัน ในการประกอบกิจการสมาชิกในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมลงหุ้นกันและรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วนำมาให้สมาชิกกู้โดยคิดดอกเบี้ย และหากมีเงินทุนเหลือก็จะนำไปให้สหกรณ์อื่นกู้ จำเลยมีรายได้เป็นค่าธรรมเนียมการเข้าเป็นสมาชิกและดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกและสหกรณ์อื่นกู้ยืม เมื่อมีกำไรก็จัดสรรเป็นเงินทุนสำรอง ค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์และจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่สมาชิกในรูปเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับจ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ ดังนี้ การประกอบกิจการของจำเลยจึงเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยจึงมิใช่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจตามข้อ (3) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บทบัญญัติมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องใช้บังคับแก่จำเลยและเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับว่างานที่จำเลยจ้างโจทก์มิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่ปกติทางธุรกิจ มิใช่งานตามฤดูกาล แต่เป็นการทำงานตามปกติของธุรกิจจำเลยแม้การจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โจทก์ก็มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทำงานมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118(2)เป็นเงิน 112,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราและนับจากวันที่โจทก์เรียกร้องในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 112,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันที่ 13 พฤศจิกายน 2542 จนกว่าจะชำระค่าชดเชยครบแก่โจทก์