คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่2ได้มอบหมายให้จำเลยที่1ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดซึ่งจำเลยที่1มีหน้าที่จัดทำบัญชีแต่มิได้จัดทำไว้ตามระเบียบและจำเลยที่2ก็มิได้ควบคุมดูแลให้จำเลยที่1ปฏิบัติให้ถูกต้องหากจำเลยที่2ควบคุมดูแลจะทราบได้ว่ามีการปลอมเอกสารและจำเลยที่1ยักยอกเงินไปแม้จำเลยที่2จะได้แต่งตั้งให้จ. ควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่งเมื่อจำเลยที่2เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยที่2พ้นความรับผิด ส่วนความเสียหายที่จำเลยที่1ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่2ลงในเช็คแล้วนำไปเบิกเงินจากธนาคารนั้นความเสียหายของโจทก์ทั้งสองย่อมเกิดขึ้นแล้วส่วนเงินจำนวนดังกล่าวแม้จะมีคนต้องรับผิดหลายคนโจทก์ทั้งสองจะเลือกฟ้องให้บางคนรับผิดก็เป็นสิทธิที่จะทำได้เมื่อจำเลยที่2ประมาทเลินเล่ออันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็ไม่ทำให้จำเลยที่2พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้สั่งให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของสถานเอกอัครราชทูตทั้งหมดจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจ่ายเงินของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ให้เป็นไปตามระเบียบและถูกต้องตามความเป็นจริง โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีคุมงบประมาณทุกประเภทตามระเบียบที่กระทรวงการคลังและโจทก์ที่ 1 ได้กำหนดไว้แต่จะเลยที่ 2 ไม่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและระเบียบโดยเคร่งครัดและไม่ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามสมควรเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำการโดยผิดกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามสมควร เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2,514,966.83 บาทจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน2,514,966.83 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2ปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 ได้หลบหนี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,514,966.83 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 2ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล นั้นจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติมากมายหลายด้านจำเลยที่ 2 จึงได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ฝ่ายการคลัง เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีความเหมาะสมกับงานด้านนี้จำเลยที่ 2 เองก็มิได้ประมาทเลินเล่อหากแต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ที่บุคคลที่อยู่ในฐานะเอกอัครราชทูตจะพึงกระทำได้ในการควบคุมดูแลและตรวจสอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานด้านการเงินและการคลังโดยถูกต้องเรียบร้อยตามที่กระทรวงการคลังและที่โจทก์ทั้งสองกำหนดไว้ทุกประการ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ได้กำหนดให้นายจิตริกที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ทำการดูแลและตรวจสอบงานด้านการเงินและการคลังที่จำเลยที่ 1ปฏิบัติอยู่ ซึ่งถือเป็นการใช้ความระมัดระวังและรอบคอบตามสมควรแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,514,966.83 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าได้ทำบัญชีไว้ทุกเดือนทั้ง 5 เล่มตามระเบียบ และได้ตรวจตราบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารแห่งอเมริกา สาขากรุงโซล ส่งมายังสถานเอกอัครราชทูต โดยจำเลยที่ 2 ให้นายจิตริกดูแลรับผิดชอบมาก่อนที่เสนอจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า บัญชีการเงินไม่มีที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เชื่อว่าไม่ได้ทำไว้จึงไม่สามารถควบคุมการเงินของสถานเอกอัครราชทูตได้ ทำให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินไปใช้ส่วนตัว จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความเพียงลอย ๆ ว่าได้จัดทำบัญชีครบทุกเดือน แต่กลับปรากฏว่าไม่มีบัญชีเหล่านั้นอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตเลย น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1ซึ่งมีหน้าที่จัดทำ มิได้จัดทำไว้ตามระเบียบและจำเลยที่ 2 ก็มิได้ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องส่วนข้อบกพร่องในการตรวจต้นฉบับบัญชีกระแสรายวัน ตามคำเบิกความของนายจิตริกและนายสมบูรณ์ ปรากฏว่าในต้นฉบับบัญชีกระแสรายวันมีการเจาะตัวเลขบางตัวออกแล้วเพิ่มตัวเลขใหม่เข้าไปและถ่ายสำเนาเพื่อให้ได้ตัวเลขตามที่ต้องการ กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 2 ได้ควบคุมดูแลโดยรอบคอบแล้วก็จะทราบได้ทันที่ว่ามีการปลอมเอกสารและจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปแม้จำเลยที่ 2 จะได้แต่งตั้งให้นายจิตริกควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิด นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อธนาคารส่งบัญชีกระแสรายวันมาให้สถานเอกอัครราชทูตในตอนสิ้นเดือนทุกเดือน จะส่งต้นฉบับเช็คที่ทางสถานเอกอัครราชทูตเบิกจ่ายมาให้ตรวจสอบด้วย หากจำเลยที่ 2 ไม่ประมาทเลินเล่อได้ตรวจสอบโดยรอบคอบ ก็จะทราบได้ทันที่ว่าเช็คดังกล่าวเหล่านั้นมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ปลอม ก็จะไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในเช็คถึง30 ฉบับ และเป็นเวลานาน การที่จำเลยที่ 1 กระทำการปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในเช็คแล้วรับเงินเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวกับยักยอกเงินรายอื่นของสถานเอกอัครราชทูตไปนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2
ฎีกาจำเลยที่ 2 อีกประการหนึ่งว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินโจทก์ทั้งสองไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จำเลยที่ 2มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่จำเลยที่ 2ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแล จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ถือโอกาสยักยอกเงินของโจทก์ทั้งสองไปจำเลยที่ 2ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนความเสียหายที่จำเลยที่ 1ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ลงในเช็คแล้วนำไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองย่อมเกิดขึ้นแล้ว ส่วนเงินจำนวนดังกล่าวนั้นแม้จะมีคนต้องรับผิดหลายคน โจทก์ทั้งสองจะเลือกฟ้องให้บางคนรับผิดก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะทำได้การที่โจทก์ทั้งสองไม่ฟ้องธนาคารที่จ่ายเงินตามลายมือชื่อในเช็คปลอม ในเมื่อจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ไม่ทำให้จำเลยที่ 2พ้นความรับผิด
พิพากษายืน

Share