คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ใช้คำว่า’อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำว่า’หรือ’หมายถึงอย่างใดอย่างหนึ่งสำคัญอยู่ที่ให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำโดยหาว่า จำเลยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา แม้ในฟ้องไม่ระบุชื่อผู้จำนำก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ถือใบอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำยี่ห้อย่องเชี้ยง วันที่ 30 มิถุนายน 2487 เวลากลางวันจำเลยได้รับจำนำจักรเย็บผ้ายี่ห้อซิงเกอร์ไว้จากผู้มีชื่อ 1 คัน เป็นเงิน 150 บาท โดยจำเลยเรียกดอกเบี้ยหรือกำไรสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คือนอกจากเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ยังเรียกเงินกำไรเป็นค่ารักษาล่วงหน้าอีก 20 บาท วันที่ 14 พฤศจิกายน 2487 เวลากลางวัน ผู้จำนำนำตั๋วจำนำมาขอไถ่ จำเลยปฏิเสธไม่ยอมคืนจักรเหตุเกิดตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 มาตรา 5, 12, 20, 21, 32

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าผู้ที่นำจักรเย็บผ้ามาจำนำจำเลยเป็นใคร ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยต้องกันว่า ฟ้องโจทก์ได้ระบุการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆอีกทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วแต่มิได้ระบุชื่อบุคคลผู้จำนำจักรเย็บผ้า เป็นแต่กล่าวว่าจำเลยได้รับจำนำจักรเย็บผ้ายี่ห้อซิงเกอร์ไว้จากผู้มีชื่อ เห็นว่ามาตรา 185(5) ใช้คำว่า “อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำว่า “หรือ” ในที่นี้หมายความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่กรณี ความสำคัญอยู่ที่ว่ากล่าวพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้เป็นเรื่องหาว่าจำเลยกระทำผิดพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ตามข้อความที่โจทก์บรรยายในฟ้องดังกล่าวมาเห็นว่าพอสมควรให้จำเลยเข้าใจข้อหาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีแล้ว ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

Share