คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ขายฝากไปขอไถ่ถอนกันเอง และไปร้องขอไถ่ถอนต่ออำเภอก่อนครบ 10 ปี แต่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมและหลบตัวไปเสียกลับมาต่อเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว ดังนี้ ถือว่าผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่ถอนในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงมาฟ้องศาล ขอไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากได้
การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากตามมาตรา 494 มิได้บังคับว่าต้องใช้สิทธิทางศาล อาจขอไถ่ถอนกันเองก็ได้ และกำหนดเวลา 10 ปีไม่ใช่อายุความฟ้องร้องเป็นเงื่อนไขแห่งเวลาสำหรับไถ่ถอนเมื่อผู้ซื้อฝากผิดเงื่อนไขสัญญาขายฝากจึงเกิดอายุ ความฟ้องร้องในเรื่องผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอไถ่ที่ดินที่สามีโจทก์ได้ขายฝากไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๘๑ โดยกล่าวว่า โจทก์ได้มาขอไถ่ต่อจำเลย ๆ ขอผัดค้นสัญญาแล้วแกล้งหลบตัวเสีย เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ โจทก์ได้ไปร้องต่ออำเภอ ๆ มีหมายเรียกจำเลยหลบตัวเสียเพิ่งกลับมาเมื่อแรมเดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๙๑ จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ยอมให้นาเป็นกรรมนสิทธิแก่จำเลยและนับแต่วันขายฝากเกิน ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ คู่ความรับกันว่าที่พิพาทไม่มีหนังสือสำคัญ ราคาขณะนี้ ๖๐๐๐ บาท การขายฝากทำกันที่อำเภอ
ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานและเห็นว่า การใช้สิทธิไถ่การขายฝากใน ๑๐ ปีนั้น ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาล การไปร้องต่ออำเภอนั้นเมื่อจำเลยไม่ยอมจะฟ้องเกิน ๑๐ ปี มิได้พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายืน
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่าใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๔๙๔ นั้นมิได้บังคับว่า ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาล อาจจะไถ่ถอนต่อกันเองแล้วไปขอแก้ทะเบียนภายหลังก็ได้ การขอไถ่ต่อกันเอง แม้ผู้รับซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่ ก็เรียกได้ว่าผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่ถอนแล้ว และกำหนด ๑๐ ปี ตามมาตรา ๔๙๔ มิใช่อายุความฟ้องร้อง เป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเงื่อนไขแห่งการไถ่ถอน เมื่อขอไถ่ใน ๑๐ ปี ผู้รับซื้อฝากไม่ยอมต้องถือว่าผู้รับซื้อฝากปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญาขายฝาก อายุความฟ้องร้องยังศาลจึงเกิดขึ้น และมีกำหนดอายุความในเรื่องผิดสัญญา การฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติต่อการที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนไว้แล้วนับจากผิดสัญญา และถ้าเป็นจริงดังโจทก์กล่าวในฟ้อง ก็เรียกได้ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ชอบที่จะบังคับให้จำเลยรับการไถ่ถอนการขายฝาก แต่ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานเสียทั้ง ๒ ฝ่าย จึงยังไม่ปรากฎความจริงในข้อนี้
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยกฎหมายดังกล่าว

Share