แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงซื้อรถพิพาทจากจำเลยทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าขณะที่จำเลยทั้งสองโอนรถพิพาทให้กับโจทก์นั้น บริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นเจ้าของรถพิพาท มิใช่จำเลยทั้งสอง ต่อมารถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไปเป็นของกลางเพื่อคืนให้แก่เจ้าของเดิม ถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว
รถพิพาทถูกยึดไปทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้รถพิพาทได้ นับได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้นับตั้งแต่วันที่รถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป และสามารถคิดดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนแต่อย่างใด
โจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะคาดคิดได้ว่าถ้าโจทก์ไม่ยอมให้ยึดรถพิพาท โจทก์อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม กรณีหาใช่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งมีอายุความ 3 เดือนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 481 ไม่ ต้องใช้อายุความธรรมดา 10 ปี ตามมาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๘ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์จากจำเลยทั้งสองในราคา ๑๑๐,๐๐๐ บาท โดยวางมัดจำ และต่อมาได้ชำระเงินให้เรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสองมอบรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์และย้ายโอนทะเบียนรถเป็นชื่อของโจทก์ โจทก์ใช้รถคันดังกล่าวบรรทุกสินค้าเป็นประจำโดยมีรายได้สุทธิไม่ต่ำกว่าวันละ ๔๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถคันดังกล่าวไปอ้างว่าเป็นรถที่นายสัมพันธ์เช่าซื้อไปจากบริษัทสยามกลการ จำกัด และได้แจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ จึงต้องยึดรถไว้เป็นของกลางเพื่อคืนให้แก่เจ้าของเดิมทำให้โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่สามารถใช้รถได้ตามปกติ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดคืนราคารถ ๑๑๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ต้องจ้างหรือเช่ารถยนต์จากบุคคลอื่นมาทำการค้าแทนรถที่ซื้อจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๕๓,๖๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑๖๓,๖๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายวันละ ๒๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระราคารถให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ยังมิได้อยู่ในฐานะถูกรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ กล่าวคือ ในขณะที่โจทก์ซื้อรถพิพาทจากจำเลยที่ ๑ นั้นจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถพิพาท เพราะรับซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อโจทก์ซื้อรถพิพาทจากจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ โดยนายทะเบียนยานพาหนะได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ข้ออ้างที่ว่านายสัมพันธ์เป็นเจ้าของรถพิพาทนั้นปราศจากหลักฐานที่แน่นอน และข้ออ้างที่ว่ามีผู้ปลอมแปลงเอกสารทะเบียนรถยนต์พิพาทนั้นก็ไม่เป็นความจริง ผู้ที่รบกวนขัดสิทธิโจทก์ในการครอบครองรถยนต์พิพาทโดยปกติสุข มิใช่ผู้มีสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทในเวลาที่โจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ ๑ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดต่อโจทก์โดยตรง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้ซื้อรถพิพาทไปใช้ในการประกอบการค้า จึงไม่จำเป็นต้องจ้างหรือเช่ารถจากบุคคลอื่น โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้องหากเสียหายก็ไม่เกินวันละ ๑๐๐ บาท ซึ่งคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถพิพาทไปเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๙แต่มิได้ยื่นฟ้องภายในกำหนด ๓ เดือนนับแต่วันถูกยึด จำเลยที่ ๒ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว เพราะการขายรถคันพิพาทเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๑๒๐,๖๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น ๑๑๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๑๒๖,๐๘๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า รถพิพาทไม่ใช่รถของบริษัทสยามกลการจำกัด ขณะที่โอนให้กับโจทก์ โจทก์ยังมิได้อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธินั้น เรื่องนี้พันตำรวจตรีอรุณสวัสดิ์พยานโจทก์เบิกความว่า รถพิพาทเดิมเป็นหมายเลขทะเบียน น – ๔๔๑๓ สกลนคร ซึ่งนายสัมพันธ์เช่าซื้อไปจากบริษัทสยามกลการ จำกัด สาขาพังโคน จังหวัดสกลนคร แล้วได้แจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พยานได้ตรวจหมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถังหมายเลขคัสซีและสีรถแล้ว ปรากฏว่าตรงกับที่นายสัมพันธ์แจ้งหายไว้ คงเปลี่ยนเฉพาะหมายเลขทะเบียนรถเท่านั้น ประกอบกับโจทก์ก็มีสำเนาภาพถ่ายบันทึกประจำวันที่นายสัมพันธ์แจ้งความเรื่องรถหายสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือการจดทะเบียนซึ่งมีชื่อบริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นเจ้าของรถพิพาท และสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าซื้อของนายสัมพันธ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ปจ.๑, จ.๘ และ จ.๙ตามลำดับมาเป็นพยาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นเจ้าของรถพิพาทขณะที่โอนให้กับโจทก์ มิใช่ของจำเลยทั้งสอง เมื่อรถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว และที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยให้โจทก์ได้ค่าเสียหายนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถไปคือวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๙ เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า การที่รถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้รถพิพาทได้ และต้องเช่ารถผู้อื่นมาใช้แทนรถพิพาท นับได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้นับตั้งแต่วันที่รถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป และข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาด้วยว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของเงินค่าเสียหายไม่ได้เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน ๑๒๖,๐๘๐ บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง มิได้รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยแต่อย่างใดและค่าเสียหายนี้เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว และการคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเป็นการชอบแล้ว มิได้เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนแต่อย่างใด
สำหรับเรื่อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะคาดคิดได้ว่าถ้าโจทก์ไม่ยอมให้ยึดรถพิพาท โจทก์อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม กรณีหาใช่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งมีอายุความ ๓ เดือน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๘๑ ไม่ อายุความในคดีนี้ต้องใช้อายุความธรรมดา ๑๐ ปี ตามมาตรา๑๖๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.