คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเนื่องจากความผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่รับจ้างกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 643 แม้โจทก์จะซ่อมรถยนต์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นผู้ครอบครองและขับขี่รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน กฉ 5807 นครราชสีมา จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 1 ในการก่อสร้างถนนสายปราสาท-สุรินทร์ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงที่ 7 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 โจทก์ขับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กฉ 5807 นครราชสีมา จากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าไปจังหวัดสุรินทร์ด้วยความเร็วปกติ เมื่อถึงถนนสายปราสาท-สุรินทร์ หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์เป็นเวลา 4.30 นาฬิกา ถนนดังกล่าวไม่มีเสาไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างและเป็นเส้นทางที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ได้จัดทำไม้วางขวางไว้บนเส้นทางดังกล่าว โดยให้ใช้เส้นทางเบี่ยงแทน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ติดสัญญาณไฟเพื่อให้ผู้ขับรถยนต์ทั่วไปมองเห็น อันเป็นการกระทำโดยประมาททำให้โจทก์ซึ่งขับรถยนต์ผ่านมาไม่สามารถมองเห็นไม้กั้นกลางถนน โจทก์ขับรถหักหลบไปทางขวาทำให้รถยนต์ของโจทก์พลิกคว่ำลงข้างทางได้รับความเสียหายโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงินทั้งสิ้น 133,548 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 133,548 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างถนนสายปราสาท-สุรินทร์ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงที่ 7 จริง แต่เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาสูงเกินส่วน ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลของการละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 100,161 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและขับขี่รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กฉ 5807 นครราชสีมา การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นเงินทั้งสิ้น 133,548 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และคำแถลงรับของคู่ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2545 ว่า รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน กฉ 5807 นครราชสีมา คันเกิดเหตุเป็นของนางชิวลั้งมารดาโจทก์ โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมใช้เท่านั้น เห็นว่า การยืมใช้คงรูป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 643 บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่ในกรณีผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ แต่โจทก์ยืนยันมาในคำฟ้องว่า เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ แม้โจทก์จะได้ซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์ยืมมาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share