แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่โจทก์และจำเลยที่ 1ได้ทำกันไว้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2509 สรุปความได้ว่า ที่ดินตามสัญญาที่ได้รับประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1 คงเป็นผู้ถือประทานบัตรอยู่ ที่ดินที่ยังไม่ได้รับประทานบัตร เป็นหน้าที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้ได้ประทานบัตร แต่เงินค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะต้องเสีย โจทก์เป็นคนออก และโจทก์เป็นผู้ทำเหมืองแร่ในที่ดินที่ได้ประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1จะได้รับผลประโยชน์ซึ่งเรียกว่าค่าเช่าร้อยละสามของแร่ที่ทำได้สัญญามีผลบังคับตลอดไปจนกว่าโจทก์จะขุดแร่หมดเนื้อที่ข้อสัญญาดังนี้ ไม่ใช่การโอนประทานบัตรตามความในมาตรา 45แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461. เพราะจำเลยที่ 1ยังเป็นผู้ถือประทานบัตร มีนิติสัมพันธ์กับทางราชการอยู่ โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าทำเหมืองแร่โดยอาศัยประทานบัตรของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากแต่เป็นการรับช่วงเข้ามาทำเหมือง ซึ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากัน แต่พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461 นี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งมีมาตรา 76 และ 77 บัญญัติห้ามผู้ถือประทานบัตร ยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายและให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มิได้ห้ามการรับช่วงทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีอนุญาต ก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ ดังนั้น การชำระหนี้ตามสัญญารายนี้ จึงไม่เป็นการพ้นวิสัย(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่)
จำเลยที่ 2 ได้ถือสิทธิครอบครองที่พิพาทมาก่อนจำเลยที่ 1จะได้ประทานบัตร จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหาแร่ในที่พิพาท เว้นแต่ จะได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 2 เสียก่อนตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ.2461 มาตรา 74แม้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะได้ทำข้อตกลงกันไว้ตามเอกสาร ล.1 แต่ก็ยังมิได้กำหนดและชดใช้ราคาทรัพย์สินในที่พิพาทกัน จำเลยที่ 1 ยังฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์ผู้รับช่วงการทำเหมืองจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินตามสัญญาเช่าทำเหมืองความประสงค์ของโจทก์ก็คือ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการใดๆ เพื่อให้โจทก์ได้เข้าทำเหมืองแร่นั่นเองฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการตรงตามคำขอของโจทก์อยู่แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลนาสาร อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 7 แปลง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2509 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงให้โจทก์เช่าที่ดินทั้งหมดที่จำเลยยื่นขอประทานบัตรไว้เพื่อให้โจทก์ได้เข้าทำเหมืองแร่ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าประทานบัตรท้ายฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับประทานบัตร 2 ฉบับ ที่ดินตามประทานบัตรทั้งสองฉบับนี้ บริษัทไซมีสตินจำกัดเคยได้รับประทานบัตรมาก่อน แต่หมดอายุแล้วจำเลยที่ 2 แต่ละสำนวนเดิมเป็นคนงานของบริษัทไซมีสติน จำกัด ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินนี้บางส่วน โดยอาศัยสิทธิตามประทานบัตรของบริษัทไซมีสติน จำกัด ในฐานะคนงาน ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 โจทก์ได้ครอบครองที่ดินตามประทานบัตร และได้นำเครื่องจักรและเครื่องมือเข้าไปไว้เพื่อทำเหมืองแร่ จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนไม่ยอมออกจากที่ดินและกีดขวางต่อการที่โจทก์จะเข้าไปทำเหมืองแร่ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้จำเลยที่ 1 จัดการส่งมอบที่ดินที่เช่าให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนและบริวารออกไป ห้ามมิให้เกี่ยวข้องและให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ทุกสำนวนขาดนัด
จำเลยที่ 2 ทุกสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 กับพวกได้ปกครองที่ดินรวมกันเป็นหมู่บ้านมานานแล้ว บริษัทไซมีสติน จำกัดเคยขอประทานบัตรแร่กลวมในที่ดินหมู่บ้านนี้ จำเลยที่ 2 กับพวกคัดค้าน ในที่สุดบริษัทไซมีสตินจำกัดยอมตัดที่ดินหมู่บ้านนี้ออกจากเขตประทานบัตร เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2510 จำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ประทานบัตรแร่กลวมในที่ดินของจำเลยที่ 2 จึงได้ร่วมกันยื่นคำคัดค้าน ในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านนาสาร ให้จำเลยที่ 1 เจาะหาแร่ได้แต่ถ้าจะสูบฉีดหาแร่ ต้องทำความตกลงเรื่องราคาพืชผลและเคหสถานให้เรียบร้อยก่อน ปรากฏตามสำเนาสัญญาท้ายคำให้การ จำเลยที่ 2 ทุกคนเว้นนายเลี่ยม ทรงโสภา ยินดีออกจากที่พิพาท ถ้าจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ยอมเสียค่าชดใช้ให้ตามสัญญาประนีประนอม และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์โอนประทานบัตร และเป็นการรับช่วงการทำเหมืองแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 77 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการพ้นวิสัยจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 อยู่ในที่พิพาทมาก่อนสัญญาเช่า ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญามาฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน
โจทก์ทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าประทานบัตรระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สัญญาโอนประทานบัตร ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ แม้ต่อมาพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ห้ามผู้ถือประทานบัตรให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองแร่เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก็ตาม ก็หาทำให้สัญญานั้นซึ่งใช้บังคับได้อยู่แล้ว กลับกลายเป็นโมฆะไปไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถให้โจทก์เข้าทำเหมืองได้ตลอดเนื้อที่ตามสัญญา โจทก์ย่อมบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ทุก สำนวนครอบครองที่พิพาทมาก่อนจำเลยที่ 1 ได้ประทานบัตร โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าประทานบัตร จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นรายสำนวน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าประทานบัตรเอกสาร จ.3 ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้ สรุปความได้ว่า ที่ดินตามสัญญาที่ได้รับประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1 คงเป็นผู้ถือประทานบัตรอยู่ ที่ดินที่ยังไม่ได้รับประทานบัตร เป็นหน้าที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้ได้ประทานบัตร การติดต่อกับทางราชการ เกี่ยวกับกิจการทำเหมืองแร่ทุกอย่าง เช่น การขอเสียภาษี การขอขายแร่ เป็นหน้าที่จำเลยที่ 1 แต่เงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่จะต้องเสีย โจทก์เป็นคนออก และโจทก์เป็นผู้ทำเหมืองแร่ในที่ดินที่ได้ประทานบัตรแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์จากโจทก์ซึ่งในสัญญาเรียกว่าค่าเช่าร้อยละสามของแร่ที่ทำได้ สัญญามีผลบังคับตลอดไปจนกว่าโจทก์จะขุดแร่หมดเนื้อที่ ข้อสัญญาดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ใช่การโอนประทานบัตรตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่พ.ศ. 2461 เพราะจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ถือประทานบัตร มีนิติสัมพันธ์กับทางราชการอยู่ โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าทำเหมืองแร่โดยอาศัยประทานบัตรของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากแต่เป็นการรับช่วงการทำเหมืองซึ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากัน แต่พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 นี้ ต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 จำเลยที่ 1 จึงฎีกาขึ้นมาว่าสัญญาตามเอกสาร จ.3 ที่ทำไว้เป็นอันพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติได้ เพราะพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ห้ามรับช่วงการทำเหมือง ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้บัญญัติถึงการรับช่วงการทำเหมืองไว้ในมาตรา 76 และ 77 เป็นความว่า ห้ามผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมือง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และให้รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร จะเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้ห้ามการรับช่วงการทำเหมืองโดยเด็ดขาด หากรัฐมนตรีอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองกันได้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่จึงมีมติว่าการชำระหนี้รายนี้ไม่เป็นการพ้นวิสัย
ในปัญหาที่ว่าโจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์สืบไม่ได้ว่าบริษัทไซมีสตินเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าอยู่ในที่พิพาท คดีฟังได้เพียงว่าขณะจำเลยที่ 2 เข้าอยู่ในที่พิพาทนั้น บริษัทไซมีสตินถือประทานบัตรอยู่ แต่บริษัทไซมีสตินมิได้ทำเหมืองแร่มาถึงที่พิพาท จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในที่พิพาทเรื่อยมาจนบริษัทไซมีสตินถอนประทานบัตรไป จำเลยที่ 2 ได้ถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาท โดยเข้าปลูกบ้านและทำนาทำสวนมาก่อนจำเลยที่ 1 จะได้ประทานบัตรแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหาแร่ในที่พิพาทเว้นแต่จะได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 2 เสียก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. 2461 มาตรา 74 แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะได้ทำข้อตกลงกันไว้ตามเอกสาร ล.1 แต่ก็ยังมิได้กำหนดและชดใช้ราคาทรัพย์สินในที่พิพาทกัน จำเลยที่ 1 ยังฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์ผู้รับช่วงการทำเหมืองจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ความประสงค์ของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินให้โจทก์ก็คือ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้โจทก์ได้เข้าทำเหมืองนั่นเอง ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเอกสาร จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจไปชดใช้ราคาทรัพย์สินให้จำเลยที่ 2 ตามที่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้แล้ว ก็อาจบังคับกันได้ เป็นการตรงตามคำขอของโจทก์อยู่แล้ว
พิพากษายืน