คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มกรมแรงงานทวงถามแล้วก็ไม่ชำระ ดังนี้ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 แล้ว แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 10 จะกำหนดให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบ และหรือเงินเพิ่มเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระเงินที่ค้างจ่ายได้ ก็เป็นเรื่องให้อำนาจพิเศษแก่อธิบดีกรมแรงงาน มิใช่เพื่อตัดสิทธิกรมแรงงานที่จะเสนอคดีต่อศาล กรมแรงงานมีอำนาจฟ้องเรียกเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มจากนายจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนแต่จำเลยไม่ชำระเงินสมทบประจำปี พ.ศ. 2523 ถึง 2525 โจทก์ทวงถามหลายครั้งแล้วจำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสมทบเงินทดแทนดังกล่าวพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า เป็นอำนาจของอธิบดีกรมแรงงานที่จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบหรือเงินเพิ่มอยู่แล้ว ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม 2515 ไม่รับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มแก่กรมแรงงานโจทก์โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง จำเลยไม่ชำระ ดังนี้ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้ว แม้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 10 จะกำหนดให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบและหรือเงินเพิ่ม เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระเงินสมทบและเงินเพิ่มค้างจ่ายได้ ก็เป็นเรื่องให้อำนาจพิเศษแก่อธิบดีกรมแรงงานมิใช่เพื่อตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคดีต่อศาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มได้

พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป

Share