คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2517 นั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินในโครงการที่จัดรูปที่ดินตามมาตรา 41 ใหม่แล้ว สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของผู้ถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมอยู่ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ได้รับสิทธิในที่ดินตามโครงการจัดรูปที่ดินบริเวณที่นาพิพาทซึ่งยังไม่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิสำหรับที่ดินที่จัดรูปแล้ว สิทธิในที่นาพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิม จำเลยทั้งสองยังไม่ได้มอบการครอบครองที่นาพิพาทให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเอารถไถเข้าไปไถนาพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่นา เนื้อที่ 4 ไร่ ของนางหวาน มากพงษ์ ผู้เสียหายที่ 1ซึ่งนายไพรงาม แสงฉาน ผู้เสียหายที่ 2 ครอบครองอยู่ โดยจำเลยทั้งสอกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนติดตัว และร่วมกันใช้รถไถนา 1 คัน ไถทำลายทำให้เสียหายแก่ต้นข้าวเนื้อที่ 4 ไร่ อันเป็นพืชผลของนายไพรงามซึ่งเป็นกสิกร เหตุเกิดที่ตำบลสร้องทอง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรคขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359, 362, 365, 83, 33ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (ที่ถูกเป็นมาตรา 359(4) ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนดคนละ2 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุก ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359(4), 365(1)(2) ฐานทำให้เสียทรัพย์ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานบุกรุกให้จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาในข้อหาบุกรุกส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ต้องห้ามฎีกา จึงไม่รับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่นาพิพาทอยู่ในเขตจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เมื่อมีการแบ่งแปลงเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเคยเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองตกอยู่ในเขตที่ดินแปลงซึ่งจะตกเป็นของนางหวาน มากพงษ์ ผู้เสียหายที่ 1 ในขณะเกิดเหตุยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินใหม่สำหรับแปลงที่ดินในเขตจัดรูปที่ดิน โดยจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 มาตรา 41 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดได้กำหนดแปลงที่ดินที่จะจัดให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมหรือผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 30(3) แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินดำเนินการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินนั้นต่อไปทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฯลฯและวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า เมื่อได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามวรรคหนึ่งแล้วหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมให้เป็นอันยกเลิก ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่า ตราบใที่ยังไม่มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินแล้ว สิทธิในที่ดินก็ยังคงเป็นของผู้ถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมอยู่ ความหมายของกฎหมายเช่นนี้ได้รับการยืนยันจากบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งมีความว่า ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่…บทบัญญัติมาตรานี้ แสดงให้เห็นว่าสิทธิของผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดิตามโครงการจัดรูปที่ดินเริ่มมีตั้งแต่ผู้นั้นได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา 41 เมื่อความปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินตำบลสร้อยทองบริเวณที่นาแปลงพิพาทยังไม่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิสำหรับที่ดินที่จัดรูปแล้ว สิทธิในที่นาพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสอง นอกจานั้นยังได้ความอีกว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งการกำหนดเขตจัดรูปที่ดินของจำเลยตลอดมา หาได้มอบการครอบครองที่นาพิพาทให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ตามมติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแล้วไม่ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเอารถไถเข้าไปไถที่นาพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหานี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษนั้น แม้ข้อหาดังกล่าวจะต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลฎีกายังคงมีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิด พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำผิดแล้ว เห็นว่าจำเลยทั้งสองเอารถเข้าไปไถต้นข้าวของผู้เสียหายที่ 2ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองไม่ยอมรับสิทธิของผู้เสียหายทั้งสองจากการจัดรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างโต้แย้งสิทธิในที่ดินกัน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกในความผิดข้อหาดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่ให้ลงโทษปรับด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share