คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นบริวารของจำเลยออกจากตึกพิพาทเพราะจำเลยผิดสัญญาเช่าโดยนำตึกพิพาทไปให้ผู้ร้องเช่าช่วง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้ผู้ร้องโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงต้องโอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้อง และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนี้ คำร้องของผู้ร้องตั้งข้อพิพาทเข้ามาโต้แย้งกับโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ร้อง เป็นการแสดงเหตุแห่งการขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แล้วจึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวจำนวน 2 คูหา เลขที่189/72-73 แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของโจทก์ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 17 ปี และได้จดทะเบียนการเช่าไว้ต่อมาจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวทั้งสองคูหานั้นให้นายไพบูลย์ไพบูลย์มหพงษ์ กับพวกรวม 4 คน มีกำหนด 13 ปี 5 เดือน แต่การโอนสิทธิการเช่ามีผลเพียง 3 ปี เพราะผู้รับโอนสิทธิการเช่ามิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการไปจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันรับโอนสิทธิการเช่าและเป็นผลให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลบังคับต่อไปตามเดิมนับตั้งแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไป และเป็นวันที่จำเลยได้เข้าถือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยต่อไปตามเดิม จำเลยได้ยินยอมให้นายไพบูลย์กับพวกรวม 3 คน เช่าช่วงตึกพิพาทต่อไป โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 245/2529 หมายเลขแดงที่ 2283/2529 ของศาลชั้นต้นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว นอกจากจะมีผลเป็นการให้เช่าช่วงโดยตรงแล้ว ยังเป็นการปิดบังอำพรางการที่จำเลยและนายไพบูลย์กับพวกได้ร่วมกันยินยอมให้บริษัทเอ็กซ์โอธุรกิจ จำกัดเช่าช่วงประกอบการค้าในตึกพิพาทโดยจำเลยไม่มีสิทธิให้เช่าช่วงตึกพิพาทของโจทก์ จำเลยคงมีสิทธิเพียงโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทเมื่อจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่าโดยนำตึกพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงโจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่า โจทก์มอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลยและกำหนดให้จำเลยพร้อมด้วยผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นบริวารของจำเลยออกจากตึกพิพาท จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากตึกพิพาท เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและผู้เช่าช่วงอันเป็นบริวารของจำเลยออกไปจากตึกพิพาทของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารของจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในตึกพิพาทอีก ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารของจำเลยจะออกไปจากตึกพิพาทและส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าตึกพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โดยจำเลยออกเงิน 400,000 บาท ให้โจทก์เพื่อช่วยค่าก่อสร้างตึกพิพาทโจทก์ยินยอมให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกพิพาทแก่ผู้อื่นได้โดยโจทก์จะไปจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้กับบุคคลผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลย แต่จำเลยจะต้องเสียค่าเปลี่ยนสัญญาให้โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยไม่ได้โอนสิทธิการเช่าช่วงตึกพิพาทให้นายไพบูลย์กับพวก การที่จำเลยโอนหรือจะโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกพิพาทให้กับนายไพบูลย์และพวกหรือบุคคลใด ๆ ย่อมทำได้ ส่วนที่โจทก์หาว่าจำเลยและนายไพบูลย์กับพวกร่วมกันปิดบังอำพรางยินยอมให้บริษัทเอ็กซ์โอธุรกิจ จำกัด เป็นผู้เช่าช่วงตึกพิพาท ไม่เป็นความจริงความจริงนายไพบูลย์กับพวกเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทดังกล่าวเพื่อทำธุรกิจในนามของนายไพบูลย์กับพวกซึ่งโจทก์ก็รับรู้และยินยอมแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย ทั้งค่าเสียหายก็เกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง ก่อนจำเลยยื่นคำให้การนายไพบูลย์ ไพบูลย์มหพงษ์นายวีระชัย ดีรัตนศรีกุล และนายไพบูลย์ พานิชไตรภพ ยื่นคำร้องร่วมกันว่า จำเลยได้จดทะเบียนการเช่าตึกพิพาทจากโจทก์มีกำหนด17 ปี จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทและกิจการแต่งผมวรภัทรให้แก่ผู้ร้อง โจทก์ยินยอมให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่ผู้ร้องและพวก โดยโจทก์และจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ร้องตามสิทธิและหน้าที่ของจำเลย ซึ่งมีอยู่ตามสัญญาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้เมื่อผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบตามสัญญาซื้อขายแล้ว ซึ่งผู้ร้องก็ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยไปแล้วจำนวน1,350,000 บาท คงค้างชำระเพียง 150,000 บาท ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน2529 จำเลยและผู้ร้องได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 245/2529 หมายเลขแดงที่ 2283/2529 ของศาลชั้นต้นสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่ครบกำหนด ต่อมาจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้องโดยความยินยอมของโจทก์ ผู้ร้องได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์สถานที่เช่าดังกล่าว ตลอดมาในฐานะเป็นผู้เช่าแทนจำเลย เมื่อสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่ครบสัญญาเช่า ทั้งโจทก์และจำเลยก็ต้องโอนสิทธิการเช่าให้ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2283/2529 ของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องผู้ร้องจึงขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อยังให้ได้ความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ และขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกพิพาททั้งสองคูหาแก่จำเลยณ ที่ทำการเขตบางกอกน้อยตามอายุสัญญาเช่าที่จำเลยเช่าไว้ต่อโจทก์หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าดังกล่าวก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สิทธิที่ผู้ร้องอ้างในคำร้อง ถ้าเป็นจริงก็ไม่เป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ที่ผู้ร้องจะเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ ยกคำร้องผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสามเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นบริวารจำเลยออกไปจากตึกพิพาท เพราะจำเลยกระทำผิดสัญญาเช่าโดยจำเลยนำตึกพิพาทไปให้ผู้ร้องเช่าช่วง ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า จำเลยได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์ต้องโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ร้องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องได้แสดงถึงเหตุแห่งการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) แล้ว โดยเป็นการตั้งข้อพิพาทเข้ามาโต้แย้งกับโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้ขับไล่ผู้ร้อง จึงสมควรให้ผู้ร้องทั้งสามเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share