แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 30 และข้อ 29 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้บัญญัติให้โจทก์เป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงใด มีฐานะเป็นกรมและให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลจำพวกทบวงการเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72(เดิม) และ 73(เดิม) ส.นายกราชบัณฑิตยสถานได้ประชุมราชบัณฑิตทุกสำนักและจัดวางระเบียบการของราชบัณฑิตยสถานว่าด้วยการปฏิบัติงานทั่วไปของนายก อุปนายก และเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20(2) ประกอบมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2485 ระเบียบการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะตามข้อ 6 ของระเบียบการของราชบัณฑิตยสถานกำหนดว่าให้นายกราชบัณฑิตสถานเป็นผู้แทนราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นนิติบุคคล ดังนั้นตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการจัดการควบคุมทบวงการเมืองโจทก์จึงถือได้ว่าในขณะฟ้องคดีโจทก์มี บ.นายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75(เดิม) โจทก์โดยบ.นายกราชบัณฑิตยสถานย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้เองโดยตรง ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาก่อนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้อที่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ได้ให้บทนิยามคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเองซึ่งมีความหมายว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้นโดยบุคคลผู้นั้นมิได้คัดลอกหรือทำซ้ำ หรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น ดังนั้น แม้การจัดทำพจนานุกรมจะมีวิธีจัดทำแบบเดียวกับวิธีที่ใช้มาแต่โบราณ โจทก์ก็อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมนั้นได้ หากการจัดทำพจนานุกรมของโจทก์เป็นงานที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ด้วยการให้บทนิยามหรือความหมายของคำต่าง ๆ พร้อมภาพประกอบความหมายของคำบางคำโดยการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มตามลีลาของโจทก์เองและโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต งานจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นงานที่โจทก์ได้ทำขึ้นโดยใช้ความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์และมีที่มาจากโจทก์เอง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง และเป็น “ผู้สร้างสรรค์” ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 แม้โจทก์จะได้จัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในความควบคุมของตนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 12 เมื่อข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเรื่องที่มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำและบทนิยามในพจนานุกรมของจำเลยซ้ำกับคำและบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์ในลักษณะลอกมาทุกตัวอักษรประมาณ 14,000 คำ และดัดแปลงโดยสลับที่บทนิยามบ้าง เปลี่ยนตัวอย่างใหม่หรือตัดออกบ้างเพิ่มเติมหรือตัดข้อความในบทนิยามของโจทก์ออกบ้าง ประมาณ19,000 คำ ส่วนการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพประกอบบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์มีประมาณ 130 ภาพ การจัดทำรูปเล่มและการพิมพ์ข้อความที่ปกนอกและปกในของพจนานุกรมทั้งสองล้วนมีลักษณะลอกเลียนแบบกันแตกต่างกันแต่เพียงสี และก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 5 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือถึงโจทก์ยอมรับผิดในการละเมิดทั้งปวง ดังนี้ พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะผู้จัดทำและจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 5พิมพ์ออกจำหน่าย จึงได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของโจทก์อันเป็นงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมรวมอยู่ด้วย ด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดงานขึ้นใหม่และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดค่าเสียหายดังกล่าวศาลอาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 438 วรรคแรก ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยลวงขายพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 โดยทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นพจนานุกรมของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายทางการค้าคิดเป็นเงิน1,000,000 บาท นั้น แม้จะฟังว่าจำเลยได้ลวงขายดังกล่าว แต่โจทก์เป็นส่วนราชการ ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ย่อมมิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะการลวงขายนั้น ประชาชนที่ถูกหลอกลวงเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายมิใช่โจทก์ ทั้งความเสียหายเพราะการลวงขายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็มิได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในอันที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ โจทก์มิได้ลงทุนพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เอง แต่โจทก์อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่าย โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตกลงให้ค่าแห่งลิขสิทธิ์แก่โจทก์เป็นเงินร้อยละ 10 ของราคาจำหน่ายต่อเล่มตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ทั้งหมดมิได้ตกเป็นของโจทก์ แม้จะฟังว่าเหตุที่หนังสือพจนานุกรมดังกล่าวยังเหลือค้างจำหน่ายอยู่อีกประมาณ 10,000 เล่ม เป็นเพราะหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ของจำเลยได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ไป โจทก์ก็มิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุนั้น จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่ไม่ปรากฏว่าภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงพิมพ์หนังสือพจนานุกรมของจำเลยโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ต่อไปจึงไม่มีค่าเสียหายในอนาคตที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันพึงได้จากการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์ที่ศาลจะกำหนดให้ได้อีก ในพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนคำนำในฐานะประธานคณะผู้จัดทำและคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ระบุชัดแจ้งว่า คณะผู้จัดทำเป็นผู้ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากการพิมพ์ครั้งที่ 1ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำพจนานุกรมดังกล่าว และต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์จากรายงานของเจ้าหน้าที่โจทก์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2531 โจทก์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาปัญหาลิขสิทธิ์และอื่น ๆ เกี่ยวกับพจนานุกรมของจำเลย เมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2531 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532ยังไม่พ้นกำหนดสามปีตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ให้การในข้อนี้ไว้แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ การที่ศาลจะมีคำสั่งให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่ง ศาลจึงไม่อาจสั่งให้บรรดาสิ่งของดังกล่าวตกเป็นของโจทก์และให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์ได้ ที่มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521บัญญัติว่า “ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการ ทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย”นั้น เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 7 บทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งใช้บังคับได้เฉพาะแก่คดีอาญาไม่อาจนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งได้ เมื่อพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์ และจำเลยที่ 5มิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้มีส่วนในการจัดทำพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ประธานคณะผู้จัดทำ และจำเลยที่ 2จัดทำพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรม จำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะผู้จัดทำพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติพ.ศ. 2530 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ทำการพิมพ์หนังสือต่าง ๆ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมโดยเป็นผู้จัดทำหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 โดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง กล่าวคือ โจทก์ได้รวบรวมคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทยแล้วจัดเรียงลำดับตัวอักษร ให้ความรู้เรื่องอักขรวิธี บอกเสียงอ่าน และนิยามความหมาย ตลอดจนประวัติของคำขึ้นเป็นหนังสือพจนานุกรมซึ่งโจทก์พิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรก เรียกว่า”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493″ มีการพิมพ์ถึง20 ครั้ง เป็นจำนวน 187,000 เล่ม ต่อมาโจทก์ได้ปรับปรุงพจนานุกรมฉบับดังกล่าวซึ่งใช้มานาน 27 ปี ขึ้นใหม่ เรียกว่า”พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525″ โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมดังกล่าวแต่ผู้เดียว ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2530 จนถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งเก้าได้สมคบกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยร่วมกันกระทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ ดัดแปลง ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของโจทก์เกือบทั้งเล่มแล้วจัดทำขึ้นใหม่เป็นหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 และพจนานุกรมนักเรียน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530นำออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้เป็นค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยคุณค่า โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 15,000,000 บาท และจำเลยพิมพ์พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ออกวางจำหน่ายแข่งขันกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์อันพึงได้จากการจำหน่ายหนังสือของโจทก์ คิดเป็นค่าเสียหายเป็นเงิน 2,560,000 บาท และค่าเสียหายในอนาคตอีกเดือนละ 213,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหมดจะหยุดการกระทำละเมิด นอกจากนี้ในการจำหน่ายพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 จำเลยได้กระทำการและได้ใช้ข้อความต่าง ๆ ในหนังสือพจนานุกรมของจำเลยหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าหนังสือของจำเลยเป็นของโจทก์อันเป็นการลวงขายทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนี้เป็นเงิน1,000,000 บาท โจทก์เพิ่งรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่14 กรกฎาคม 2531 ขอให้บังคับจำเลยทั้งหมดยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยระงับการจัดพิมพ์ขาย จัดจำหน่าย โฆษณาในทางการค้าซึ่งหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 และหนังสือพจนานุกรมนักเรียน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ต่อไปให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 18,560,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 213,300 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และสั่งให้บรรดาหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530ที่จำเลยได้จัดทำขึ้นตกเป็นของโจทก์ทั้งหมดและให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นายบุญพฤกษ์ จาฏามระ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โจทก์เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นประธานที่ปรึกษาของคณะผู้จัดทำพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 จริง แต่มีหน้าที่ให้นโยบายการจัดทำและตัดสินหาข้อยุติเมื่อมีปัญหาทางวิชาการ จำเลยที่ 1ไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดพิมพ์ และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกีรยติ พ.ศ. 2530 โจทก์ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์งาน โดยเป็นผู้จัดทำหรือก่อให้เกิดงานในอันที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493และหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ตามฟ้องเพราะพจนานุกรมเป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือเป็นหนังสือที่รวบรวมคำทั้งหลายที่ใช้ในภาษามาอธิบายความหมายและบอกประวัติที่มาของคำคำนั้น ซึ่งได้กระทำสะสมสืบเนื่องกันมาแต่โบราณมิใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ผู้ใดผู้หนึ่งคิดขึ้นใหม่ หนังสือพจนานุกรมโดยทั่วไปจึงไม่มีใครอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นอกจากนี้งานที่จะมีลิขสิทธิ์ต้องเป็นงานที่เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ แต่การทำพจนานุกรมไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้ทำก็ต้องมีลักษณะเดียวกัน ไม่มีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โจทก์ได้นำเอาหนังสือปทานุกรมฉบับดั้งเดิมไม่มีที่มาของกระทรวงธรรมการมาแก้ไขแล้วเรียกใหม่ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประพันธ์ ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 ต่อมาเมื่อโจทก์ทำหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 โจทก์ก็ได้ทำขึ้นโดยการนำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 มาแก้ไขปรับปรุงแล้วเรียกชื่อใหม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์หรือก่อให้เกิดงานพจนานุกรมทั้งสองฉบับดังกล่าว การแก้ไขปรับปรุงดังกล่าวโจทก์ทำโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีและคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การแก้ไขปรับปรุงพจนานุกรมของโจทก์เป็นการทำตามมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งของรัฐมนตรีดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยทั้งเก้าไม่ได้ทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบดัดแปลง ปรับปรุงแก้ไข หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 มาจัดทำเป็นหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530เพราะการให้คำนิยามและจัดทำภาพประกอบต่าง ๆ โจทก์ไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่เป็นเรื่องที่มีการรวบรวมสะสมกันไว้มาแต่โบราณไม่มีใครสามารถอ้างเป็นเจ้าของได้ ทั้งหนังสือของจำเลยได้บรรจุภาพและลายต่าง ๆ มากกว่าในหนังสือของโจทก์ หากจะฟังว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์แล้ว จำเลยก็ทำซ้ำ หรือลอกเลียนเพียงบางส่วนจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 30 และ 31 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จำเลยไม่ได้ลวงขายพจนานุกรมของจำเลยโดยหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นพจนานุกรมของโจทก์ เป็นพจนานุกรมของโจทก์ ในการจัดทำพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติพ.ศ. 2530 ของจำเลย จำเลยได้มีคณะนักวิชาการเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานควบคุมนโยบายการจัดทำเมื่อทำเสร็จ จำเลยที่ 2 ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อว่า ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 โดยถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายโดยเสด็จพระราชกุศลไปแล้วเป็นเงิน 2,000,000 บาทจำเลยจึงมิได้จัดทำพจนานุกรมฉบับดังกล่าวขึ้นเพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้าตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ทราบเรื่องก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดพิมพ์พจนานุกรมของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,560,000 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 213,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะยุติการกระทำละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ทั้งหมดให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายบุญพฤกษ์ จาฎามาระนายกราชบัณฑิตยสถาน ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามกฎหมายเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 30 และข้อ 29ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้บัญญัติให้โจทก์เป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงใด มีฐานะเป็นกรม และให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลจำพวกทบวงการเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 (เดิม) และ 73 (เดิม)ซึ่งตามมาตรา 74 (เดิม) บัญญัติว่า การจัดควบคุมทบวงการเมืองต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งปวงที่ว่าด้วยการนั้นพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดควบคุมทบวงการเมืองโจทก์ มาตรา 20(2) บัญญัติว่านายกราชบัณฑิตยสถานคือราชบัณฑิตที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมของราชบัณฑิตทุกสำนักเพื่อปฏิบัติงานทั่วไปตามระเบียบการของราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. 2526 นายเสริม วินัยฉัยกุลนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ประชุมราชบัณฑิตทุกสำนักและจัดวางระเบียบการของราชบัณฑิตยสถานว่าด้วยการปฏิบัติงานทั่วไปของนายก อุปนายกและเลขาธิการราชบัณฑิตสถานตามเอกสารหมาย จ.7 ขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20(2) ประกอบมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวระเบียบการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะตามข้อ 6 ของระเบียบการราชบัณฑิตยสถานเอกสารหมาย จ.7 กำหนดว่า ให้นายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้แทนราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นนิติบุคคลดังนั้น ตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการจัดควบคุมทบวงการเมืองโจทก์จึงถือได้ว่า ในขณะฟ้องคดีโจทก์มีนายบุญพฤกษ์ จาฎามระนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 (เดิม) โจทก์โดยนายบุญพฤกษ์ นายกราชบัณฑิตยสถานย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้เองโดยตรง ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้บังคับบัญชาก่อนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้จัดทำพจนานุกรมตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและได้แสดงเจตนาอุทิศงานดังกล่าวมอบให้เป็นสมบัติแห่งชาติไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจหวงห้ามหรือฟ้องร้องผู้ใดนั้น ความข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ และเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อ 2 ว่า โจทก์ไม่ได้เป็น”ผู้สร้างสรรค์” งานหนังสือพจนานุกรม โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ได้ให้บทนิยามคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่าผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง ซึ่งมีความหมายว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้นโดยบุคคลผู้นั้นมิได้คัดลอกหรือทำซ้ำ หรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่นหรือไม่ ดังนั้นแม้การจัดทำพจนานุกรมจะมีวิธีจัดทำแบบเดียวกับวิธีที่ใช้มาแต่โบราณดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โจทก์ก็อาจเป็นผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมนั้นได้ หากการจัดทำพจนานุกรมของโจทก์เป็นงานที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ด้วยการให้บทนิยามหรือความหมายของคำต่าง ๆ พร้อมภาพประกอบความหมายของคำบางคำโดยการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มตามลีลาของโจทก์เอง และโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525โจทก์เริ่มทำมาแต่ พ.ศ. 2477 โดยเมื่อโจทก์รับโอนงานชำระปทานุกรมจากกระทรวงธรรมการในปีดังกล่าวโจทก์ได้ให้คณะกรรมการซึ่งกระทรวงธรรมการได้แต่งตั้งไว้ดำเนินการต่อไป คณะกรรมการได้จัดรวบรวมคำที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มเติมคำใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวสะกดการันต์ ให้ถูกต้อง จัดเรียงลำดับคำตามตัวอักษร ค้นคว้าถกเถียงและแก้ไขคำนิยามจนสมบูรณ์ที่สุด คณะกรรมการประชุมกันประมาณ 1,200 ครั้ง ใช้เวลา 17 ปีเศษ จึงเสร็จเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เมื่อใช้พจนานุกรมดังกล่าวได้เป็นเวลา 27 ปี โจทก์ได้ปรับปรุงเป็นพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ในการปรับปรุงครั้งนี้ โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการจากราชบัณฑิตของโจทก์ทั้งสามสำนัก คือ สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองสำนักศิลปกรรม และสำนักวิทยาศาสตร์ กับผู้ทรงคุณวุฒิสาขาอื่น ๆจำนวนหลายสิบคนคณะกรรมการประชุมกันประมาณ 200 ครั้ง ใช้เวลา3 ปี การปรับปรุงครั้งนี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้มากขึ้นและแก้ไขการสะกดการันต์ และบทนิยามปรับปรุงชื่อพืชชื่อสัตว์ กับได้พิมพ์ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้พจนานุกรมดังกล่าวเป็นมาตรฐานสำหรับเขียนหนังสือในทางราชการ และมีภาพประกอบไว้ท้ายเล่มและระหว่างเล่มพอสมควรด้วย ในการปรับปรุงบทนิยามของคณะกรรมการแต่ละคนต้องคิดบทนิยามของแต่ละคำที่ได้รับมอบหมายเองจากประสบการณ์หรือการค้นคว้าศึกษาของตนแล้วเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการจะประชุมโต้เถียงกันจนได้บทนิยามที่สมบูรณ์ที่สุด งานจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 จึงเป็นงานที่โจทก์ได้ทำโดยใช้ความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์และมีที่มาจากโจทก์เอง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง และเป็น”ผู้สร้างสรรค์” ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4ดังกล่าว อนึ่ง แม้โจทก์จะได้จัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรมโจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในความควบคุมของตนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 12 เพราะไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นทำนองว่า พจนานุกรมของโจทก์เป็นเพียงรายงานของทางราชการที่โจทก์ทำขึ้นตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 นั้น ปรากฏว่าข้อฎีกาดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อ 3 ว่า การจัดทำพจนานุกรมทุกฉบับมีวิธีจัดทำเหมือนกัน พจนานุกรมของจำเลยจึงไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์พจนานุกรมของโจทก์ เห็นว่าการทำพจนานุกรมย่อมมีหลักที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พจนานุกรมต้องรวบรวมคำทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในภาษานั้นตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องอักขรวิธี การออกเสียงอ่าน ความหมาย และประวัติของคำส่วนการเรียงลำดับคำซึ่งนิยมเรียงลำดับตามตัวอักษร จึงอาจมีบางส่วนซ้ำหรือเหมือนกันโดยมิได้ลอกเลียนกันได้ ปัญหาว่าคำและความหมายหรือบทนิยมของคำพร้อมภาพประกอบความหมายของคำในพจนานุกรมของจำเลยได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากพจนานุกรมของโจทก์หรือไม่ ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าได้มีการตรวจสอบพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ของจำเลยเปรียบเทียบกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของโจทก์แล้วปรากฏว่าคำและบทนิยามในพจนานุกรมของจำเลยซ้ำกับคำและบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์ในลักษณะลอกมาทุกตัวอักษรประมาณ 14,000 คำและดัดแปลงโดยสลับที่บทนิยามบ้าง เปลี่ยนตัวอย่างใหม่หรือตัดออกบ้าง เพิ่มเติมหรือตัดข้อความในบทนิยามของโจทก์ออกบ้างประมาณ 19,000 คำ ส่วนการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพประกอบบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์มีประมาณ 130 ภาพ ศาลฎีกาได้ตรวจพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 กับพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 แล้ว ปรากฏว่าคำและบทนิยามกับภาพประกอบบทนิยามของคำในพจนานุกรมทั้งสองฉบับเหมือนหรือซ้ำกันและมีการดัดแปลงรวมกันจำนวนถึง 30,000 คำเศษ ตามที่พยานหลักฐานโจทก์ ดังตัวอย่างคำว่า “เส้นผมบังภูเขา” “เท้ายายม่อม” และ”สางห่า” บทนิยามที่เหมือนหรือซ้ำกันดังกล่าว มีบทนิยามของคำบางคำที่พจนานุกรมของโจทก์พิมพ์ผิดและพจนานุกรมของจำเลยก็พิมพ์ผิดเหมือนกันด้วย เช่นคำว่า “กะเม็ง” ซึ่งในหนังสือพจนานุกรมของโจทก์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 75 ได้พิมพ์ว่า “กะเม็ง”น.ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Wedelia chinensis Merr. ในวงศ์Compositae ชอบขึ้นในที่ชื้น แฉะทอดลำต้นและออกราก ตอนโคน ใบคายดอกเหลือง ใช้ทำยาได้ กะเม็ง ตัวผู้ น. ชื่อไม้ล้มลุกขนาดเล็กชนิด Eclipta prostroat Linn. ในวงศ์ Compositae ขึ้นอยู่ทั่วไปลำต้นสีม่วงคล้ำ ใบเขียวมีขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยาได้ กะเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง ก็เรียก” นายบุญพฤกษ์พยานโจทก์เบิกความว่า คำว่า”กะเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง” ความจริงเป็นบทนิยามของคำว่า “กะเม็ง”ในพจนานุกรมของโจทก์พิมพ์ผิดไป โดยนำไปใส่ไว้ในนิยามคำว่า”กะเม็ง ตัวผู้” ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 ได้แก้ไขใหม่ โดยตัดคำว่า”กะเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง ก็เรียก” ออกจากบทนิยามของกะเม็งตัวผู้และนำไปใส่ไว้ในความหมายคำว่า “กะเม็ง” และพิมพ์ใหม่ว่า”กระเม็ง น.ชื่อไม้ล้มลุกขนาดเล็กชนิด Eclipta prostrata Linn.ในวงศ์ Compositae ขึ้นอยู่ทั่วไป ลำต้นสีม่วงคล้ำ ใบเขียวมีขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยาได้, กะเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง ก็เรียกกะเม็ง ตัวผู้ น.ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Wedelia chinensis Merr.ในวงศ์ Compositae ชอบขึ้นในที่แฉะ ทอดลำต้นและออกราก ตอนโคนใบคาย ดอกเหลือง ใช้ทำยาได้” ปรากฏว่าบทนิยามของคำดังกล่าวพจนานุกรมของจำเลย หน้า 41 พิมพ์ว่า “กะเม็ง น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ขึ้นในที่แฉะ ใบคาย ดอกเหลือง ใช้ทำยาได้ กะเม็ง ตัวผู้น.ชื่อไม้ล้มลุกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่ทั่วไป ต้นสีม่วงคล้ำใบเขียว มีขนคาย ดอกขาวใช้ทำยาได้, บางทีเรียกว่า กระเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง” ซึ่งเหมือนหรือซ้ำกับบทนิยามคำว่า “กะเม็ง และ”กะเม็ง ตัวผู้” ในหนังสือพจนานุกรมของโจทก์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3และพจนานุกรมของจำเลยยังผิดมากไปกว่าพจนานุกรมของโจทก์ กล่าวคือผิดทั้งตัวสะกดและความหมาย ทั้งนี้ เพราะจำเลยให้ความหมายในส่วนนี้ว่า “บางทีเรียกว่า กระเม็ง ตัวเมียหรือคัดเม็ง” ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่ากะเม็งตัวผู้กับกะเม็ง ตัวเมียเป็นไม้ชนิดเดียวกัน นอกจากจะเหมือนหรือซ้ำกันในบทนิยามที่พิมพ์ผิดในพจนานุกรมของโจทก์แล้ว บทนิยามที่เหมือนหรือซ้ำกันบางคำก็เป็นบทนิยามที่ผู้จัดทำพจนานุกรมของโจทก์เพิ่งแก้ไขใหม่หลังจากที่ใช้กันมาโดยเข้าใจผิดเป็นเวลานาน เช่น คำว่า “สางห่า” ซึ่งแต่เดิมมีผู้เข้าใจว่า เป็นชื่อสัตว์ดุร้าย มีพิษร้ายแรงมาก ปรากฏคำนิยามในหนังสือพจนานุกรมของโจทก์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 หน้า 799 ว่า เป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายงู มีพิษร้ายแรงมากแต่จากประสบการณ์ของนาวาอากาศเอกวิโรจน์พยานโจทก์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิธานสัตว์ นาวาอากาศเอกวิโรจน์เห็นว่าเป็นชื่อจิ้งเหลนหางยาวชนิดหนึ่ง จึงได้เสนอความหมายของคำดังกล่าวที่ถูกต้อง โดยนาวาอากาศเอกวิโรจน์ได้นำตัวจริงของสัตว์ต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าใจว่าเป็นตัวสางห่า และตัวจริงของจิ้งเหลนชนิดดังกล่าวมาเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิธานสัตว์จนในที่สุดที่ประชุมเห็นด้วย และให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทนิยามของคำดังกล่าวใหม่ดังปรากฏในพจนานุกรมของโจทก์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 หน้า 811 “สางห่า” จึงมีบทนิยามว่า “ชื่อเรียกจิ้งเหลนหางยาวชนิด Takydromus sexlineatusในวงศ์ Lacertidae พบทุกภาคของประเทศไทย ตัวเล็ก หางยาวประมาณ 5 เท่าของความยาวลำตัว ที่เรียกสางห่า เพราะเข้าใจผิดว่ามีพิษร้ายแรง” ในพจนานุกรมของจำเลย หน้า 530 ก็มีบทนิยามของคำว่า”สางห่า” ว่า “ชื่อเรียกจิ้งเหลนหางยาวชนิดหนึ่ง ตัวเล็กหางยาวมาก มีทั่วไปในประเทศไทย” ซึ่งเป็นบทนิยามที่เหมือนหรือซ้ำกัน โดยไม่มีพยานจำเลยปากใดเบิกความถึงประวัติความเป็นมาของคำนี้ ที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้จัดทำพจนานุกรมของจำเลยค้นพบเองว่าที่เข้าใจกันมาช้านานว่าตัวสางห่า เป็นสัตว์มีพิษร้ายนั้นไม่ถูกต้อง และผู้จัดทำพจนานุกรมของจำเลยคิดบทนิยามดังกล่าวขึ้นมาเองโดยมิได้ลอกเลียนบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าคำในพจนานุกรมของจำเลยมีมากกว่าพจนานุกรมของโจทก์เกือบ8,000 คำ มิใช่เป็นข้อที่แสดงว่าคำและบทนิยามในพจนานุกรมของจำเลยจะมิได้ทำซ้ำ หรือดัดแปลงจากพจนานุกรมของโจทก์ ส่วนภาพประกอบบทนิยามของคำก็ปรากฏว่าเหมือนหรือซ้ำกันในลักษณะที่ได้ลอกและดัดแปลงจากภาพประกอบในพจนานุกรมของโจทก์ เช่น ภาพกระบอกในพจนานุกรมของจำเลย หน้า 19 มีรอยแตกร้าวเหมือนภาพกระบอกในพจนานุกรมของโจทก์หน้า 36 โดยรอยแตกร้าวนี้นายจุลทัศน์พยาฆรานนท์ พยานโจทก์เบิกความว่าพยานวาดรูปกระบอกจากกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้แล้วและมีรอยแตกร้าว ซึ่งข้อนี้จำเลยไม่มีพยานปากใดเคยเบิกความถึงเหตุที่ภาพกระบอกในพจนานุกรมของจำเลยมีรอยแตกร้าวตำแหน่งเดียวกับภาพกระบอกในพจนานุกรมของโจทก์ ส่วนภาพอื่น ๆที่มีลักษณะลอกเลียนหรือดัดแปลงจากภาพในพจนานุกรมของโจทก์ได้แก่ ภาพกรอบหน้าและกระคนในหน้า 8 ของพจนานุกรมของจำเลย ซึ่งลอกแบบมาจากภาพกรอบหน้าและกระคนในพจนานุกรมของโจทก์ หน้า 15และหน้า 16 ตามลำดับหรือภาพกรวยใบตอง และกรวยทองเหลืองในหน้า 7ของพจนานุกรมของจำเลยซึ่งเลียนแบบมาจากภาพกรวยใบตอง และกรวยทองเหลืองในพจนานุกรมของโจทก์หน้า 14 และหน้า 36 ตามลำดับตามคำเบิกความของนายจุลทัศน์ประกอบเอกสารหมาย จ.27 ได้ความว่ามีภาพประกอบคำหรือบทนิยามในพจนานุกรมของจำเลยที่ได้ลอก เลียนแบบหรือย่อส่วนไปจากภาพประกอบในพจนานุกรมของโจทก์ประมาณ 130 ภาพโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าภาพต่าง ๆ เหล่านั้น ใครเป็นคนถ่ายหรือวาด มาจากที่ใด เพียงแต่อ้างว่าถ่ายหรือวางมาจากของจริงที่ปรากฏอยู่ทั่วไปเท่านั้น ประกอบกับการจัดทำรูปเล่มและการพิมพ์ข้อความที่ปกนอกและปกในของพจนานุกรมทั้งสองล้วนมีลักษณะลอกเลียนแบบกัน แตกต่างกันแต่เพียงสี และก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 5ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือถึงโจทก์ยอมรับผิดในการละเมิดทั้งปวง พยานหลักฐานของโจทก์ดังวินิจฉัยมาจึงฟังได้ว่าพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะผู้จัดทำและจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 5 พิมพ์ออกจำหน่าย ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ของโจทก์อันเป็นงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมรวมอยู่ด้วย ด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ปัญหาเกี่ยวกับค่าเสียหาย ปรากฏตามท้ายฎีกาโจทก์เพียงว่าโจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้จำเลยทุกคนร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เต็มตามฟ้องและบังคับจำเลยทุกคนตามคำขอท้ายฟ้องทุกประการเท่านั้น โจทก์มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาถึงค่าเสียหายเกี่ยวกับพจนานุกรมนักเรียน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ดังที่ระบุในคำฟ้องจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะค่าเสียหายเกี่ยวกับพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 เห็นว่า การละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดค่าเสียหายดังกล่าวศาลอาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 438 วรรคแรก ในการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 โจทก์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์อย่างแรงกล้าโดยได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจและสติปัญญาดำเนินการและโจทก์ต้องอาศัยความเสียสละและการอุทิศตนของผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 2 ถือโอกาสลอกเลียนพจนานุกรมดังกล่าวเอาเป็นของตนเอง โดยพิมพ์ออกจำหน่ายเพื่อการค้าและแสวงหาผลกำไรโดยมิต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจดุจโจทก์โจทก์นำสืบว่า จำเลยพิมพ์หนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติพ.ศ. 2530 ขึ้น 6 ครั้ง ปรากฏตามหนังสือพจนานุกรมดังกล่าวของจำเลย พิมพ์ครั้งที่ 6 ว่า จำเลยพิมพ์หนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ใน พ.ศ. 2531 ถึง 3 ครั้ง และในพ.ศ. 2532 อีก 3 ครั้ง แสดงว่า หนังสือของจำเลยดังกล่าวได้พิมพ์ขึ้นเป็นจำนวนมากและสามารถจำหน่ายได้หมดอย่างรวดเร็ว แม้จะขายในราคาสูงถึงเล่มละ 200 บาท ตามราคาที่ระบุไว้ในปกหน้าด้านในก็ตาม เมื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจ และสติปัญญาของโจทก์โดยมิควรได้ประกอบกับสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์ได้รับค่าแห่งลิขสิทธิ์จากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ร้อยละ 10 ของราคาหน้าปกแต่ละเล่มตลอดจนพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังกล่าวแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ให้โจทก์เป็นเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยลวงขายพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530โดยทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นพจนานุกรมของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายทางการค้าคิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังว่าจำเลยได้ลวงขายดังกล่าวแต่โจทก์เป็นส่วนราชการซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ย่อมมิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะการลวงขายนั้น ประชาชนที่ถูกหลอกลวงเท่านั้นที่เป็นผู้ขายมิใช่โจทก์ทั้งความเสียหายเพราะการลวงขายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ก็มิได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในอันที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นข้อ 5 ว่า การจัดทำพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ออกจำหน่ายไม่กระทบกระเทือนถึงยอดจำหน่ายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525ของโจทก์ และโจทก์ไม่เสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ลงทุนพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เอง แต่โจทก์อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอักษรเจริญทัศน์เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตกลงให้ค่าแห่งลิขสิทธิ์แก่โจทก์เป็นเงินร้อยละ 10 ของราคาจำหน่ายต่อเล่มตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ทั้งหมดมิได้ตกเป็นของโจทก์ แม้จะฟังว่าเหตุที่หนังสือพจนานุกรมดังกล่าวยังเหลือค้างจำหน่ายอยู่อีกประมาณ 10,000 เล่ม เป็นเพราะหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ของจำเลยได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ไป โจทก์ก็มิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยสำหรับค่าเสียหายรายเดือนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ในอัตราเดือนละ213,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะยุติการกระทำละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นการละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของโจทก์ภายหลังที่โจทก์ฟ้องคือการที่จำเลยยังคงพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพจนานุกรมของจำเลยโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ต่อไปอันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายโดยไม่ได้รับค่าแห่งลิขสิทธิ์ที่โจทก์ควรจะได้รับจากการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าภายหลังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยยังคงพิมพ์หนังสือพจนานุกรมของจำเลยโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อย