คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทนเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วในขณะรับโอนว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทมานานกว่า 20 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่จำเลยกลับนำสืบว่า เดิมที่พิพาทเป็นของ ด.ย่าของจำเลยด. มีที่ดินอยู่2 แปลง คือที่พิพาทและที่ดิน ส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ป่า ที่ดิน ส.ค.1ซึ่งเป็นที่ป่านั้น เดิมจำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดินมีโฉนด ส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด จำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดิน ส.ค.1 ที่ดินส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ป่า ย. บิดาจำเลยได้โอนให้แก่ น. ดังนี้การที่จำเลยนำสืบว่า ที่ดินที่ น.เจ้ามรดกซื้อมาจาก ย. บิดาจำเลย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2480 เป็นที่ป่าคนละแปลงกับที่พิพาทและการที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่ากรณีเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญผิดกัน คือ ย. ตกลงขายที่ดินที่เป็นที่ป่าให้แก่ น. จึงเป็นเรื่องสำคัญผิดในหลักฐานของที่ดิน น.ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินป่าแปลงนั้น หาได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทไม่ กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทยังเป็นของ ย.อยู่เมื่อย. ตายที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้เพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นข้อนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ และโจทก์รับซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ด้วย แม้ว่าปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมา คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปเสียเองทีเดียวได้แล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยได้ หากผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่2000 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครจำเลยปลูกบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 7 อยู่ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนโจทก์เป็นเจ้าของ โจทก์จำเป็นต้องใช้ที่ดินได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไป จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ถ้าให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าอย่างต่ำเดือนละ 200 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั้งขนย้ายครอบครัว ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ แล้วส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยหากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนเองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200บาทนับจากวันฟ้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตามฟ้องโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน เพราะขณะซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายกลอย อุบลไทร ผู้จัดการมรดกของนายนัว อุบลไทร โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนทางทิศใต้ของที่ดินมานานกว่า 20 ปี โดยจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวด้วยความสงบ เปิดเผยและโดยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 กว่าปีมาแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงนอกประเด็นหรือไม่ คดีนี้จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน เพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วในขณะรับโอนว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทมานานกว่า 20 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแต่จำเลยกลับนำสืบว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนางดอยย่าของจำเลยนางดอยมีที่ดินอยู่ 2 แปลง คือที่พิพาท และที่ดิน ส.ค.1 ที่ดินส.ค.1 เป็นที่ป่าซึ่งเดิมจำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดินมีโฉนด ส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดจำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดิน ส.ค.1 ที่ดินส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ป่านั้นบิดาจำเลยได้โอนให้แก่นายนัว อุบลไทรเห็นว่า การที่จำเลยนำสืบว่าที่ดินที่นายนัวเจ้ามรดกซื้อมาจากนายแย สมประสงค์ บิดาของจำเลย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2480เป็นที่ป่าคนละแปลงกับที่พิพาทและการที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า กรณีเช่นนี้จึงน่าเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญผิดกันคือ นายแยตกลงขายที่ดินที่เป็นป่าให้แก่นายนัวจึงเป็นเรื่องสำคัญผิดในหลักฐานของที่ดิน นายนัวย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินป่าแปลงนั้น หาได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทไม่ กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทยังเป็นของนายแยอยู่ เมื่อนายแยตาย ที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดได้แก่จำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยคดีตามประเด็นพิพาทในคดี ซึ่งในข้อนี้แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้เพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นข้อนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงปัญหาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ และโจทก์รับซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วด้วย ปัญหาทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น โจทก์ได้อุทธรณ์โต้แย้งมา แต่ศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยให้โจทก์ไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ และแม้ว่าปัญหาทั้ง 2 ประการดังกล่าวนั้น คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปเสียเองทีเดียวได้แล้วก็ตาม แต่เห็นว่าสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share