คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสามมีใจความกล่าวถึงคำฟ้องคำให้การและศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าอย่างไรหาได้มีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสามที่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐให้ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดถ้าจำเลยทั้งสามเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ต่อเมื่อเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่96ใช้บังคับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา9(1)ประกอบมาตรา108วรรคแรกแต่การครอบครองที่ดินของรัฐจำเลยทั้งสามเกิดขึ้นหลังจากวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่96ใช้บังคับการกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา9(1),108ทวิในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐหาจำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการต่างๆดังกล่าวเสียก่อนไม่ ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะจำเลยทั้งสามเข้าไปยึดถือครอบครองและจะคงเป็นความผิดเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปเมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยทั้งสามยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับในฟ้องแม้ศาลอุทธรณ์จะฟังข้อเท็จจริงด้วยว่าก่อนหน้าวันเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งสามได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุต่อเนื่องกันมาจนถึงวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องก็เป็นการฟังข้อเท็จจริงประกอบกันว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องจริงหาใช่เป็นการฟ้องข้อเท็จจริงแตกต่างกับฟ้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างอาคารบ้านพักและยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ โดยจำเลยทั้งสามมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และให้จำเลยกับบริวารของจำเลยออกจากที่ดินดังกล่าวด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสามเฉพาะข้อ 1 ข้อ 2 ก. และ ข. แต่ปรากฏว่า ข้อ 1มีใจความกล่าวถึงคำฟ้องคำให้การและศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าอย่างไร หาได้มีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่ประการใดไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปรากฏว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยทั้งสามจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า แม้จำเลยทั้งสามจะเคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุก่อนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันปลูกสร้างบ้านเมื่อปี 2532 แต่ก็มีชาวบ้านอื่นมาทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุเช่นกัน ไม่มีผู้ใดหวงกันแสดงตนเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว การใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในลักษณะเช่นนี้ ไม่อาจถือได้ว่าผู้ใดผู้หนึ่งยึดถือ ครอบครองเป็นของตน จนกระทั่งเมื่อจำเลยที่ 1ลงมือปลูกสร้างบ้านขึ้นในที่ดินเกิดเหตุ จึงเป็นการแสดงออกว่าจำเลยที่ 1 จะยึดถือ ครอบครองที่ดินเกิดเหตุเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านเมื่อปี 2532 การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นหลังจากมีประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อ 2 ก.ประการแรกว่า พยานหลักฐานโจทก์จำเลยรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุก่อนมีประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 นั้นเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อเดียวกันประการต่อมาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดเสียก่อน เมื่อจำเลยทั้งสามเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินภายในระยะเวลากำหนดแล้วจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งสามจึงจะมีความผิด แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวจึงลงโทษจำเลยทั้งสามไม่ได้ เพราะเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องกระทำดังจำเลยทั้งสามฎีกาก็ต่อเมื่อเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 พ.ศ. 2515 ใช้บังคับ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบมาตรา 108วรรคแรก แต่การครอบครองที่ดินในที่เกิดเหตุของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับแล้วตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมา การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1),108 ทวิ ในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ หาจำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการต่าง ๆดังจำเลยทั้งสามฎีกาเสียก่อนไม่
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อ 2 ข. เป็นประการสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม2533 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2532 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1เข้าไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินเกิดเหตุเมื่อปลายปี 2532 ซึ่งเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องทั้งข้อแตกต่างนั้นก็เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยทั้งสามหลงต่อสู้ด้วย นอกจากนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยทั้งสามยังคงปลูกสร้างบ้านในที่ดินเกิดเหตุอยู่ความผิดของจำเลยทั้งสามยังคงมีอยู่ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเป็นข้อวินิจฉัยที่นอกเหนือจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะจำเลยทั้งสามเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และจะคงเป็นความผิดเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากที่ดินเกิดเหตุ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยทั้งสามยังคงยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับในฟ้องแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะฟังข้อเท็จจริงด้วยว่า ก่อนหน้าวันเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุตั้งแต่ปลายปี 2532 ต่อเนื่องกันมาจนถึงวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องก็เป็นการฟังข้อเท็จจริงประกอบกันว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องจริง หาใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงแตกต่างกับในฟ้องไม่ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากพยานหลักฐานในสำนวนดังจำเลยทั้งสามฎีกาแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share