คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด 60 วัน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 142(5)
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี กรณีที่สองเมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีเมื่อล่วงพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 แต่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ซึ่งครบกำหนดวันสุดท้ายในวันที่ 6พฤษภาคม 2540 โจทก์จึงต้องฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าวคือภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2541
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกล่าวถึงที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวของข้าพเจ้าผู้อุทธรณ์ทั้งเจ็ดมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 35 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา แต่ถูกเวนคืนไป 6 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ทำให้ที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนเหลืออยู่อีก 29 ไร่ 2 งาน 51ตารางวา จะต้องเสียหายเป็นอย่างมาก ที่ดินแปลงดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินทั้งหกแปลงที่อยู่ด้านหน้าติดถนนหมายเลข 346 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้า ซึ่งได้ถูกเวนคืนไปแล้วพร้อม ๆ กัน จึงเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงที่เหลือไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ จึงใคร่ขอความกรุณาต่อฯพณฯ เพื่อเปิดทางให้แก่ที่ดินแปลงที่เหลือดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความส่วนใดที่ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงและราคาลดลงเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงถือไม่ได้ว่ามีการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้ 2 กรณี เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนเพิ่มภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องอันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ถูกเวนคืน โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด 2 เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษเพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1442 ตำบลบ้านใหม่อำเภอเชียงราก จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา ในปี 2539 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางปะอินอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอสามโคก อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตดอนเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2539 เป็นพื้นที่ที่จะทำการเวนคืนเพื่อทำการก่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ของจำเลย เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืน ในวันที่ 13 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กรณีไม่อาจตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทนกับโจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 6 ไร่1 งาน 13 ตารางวา กำหนดราคาซื้อขายเพียงตารางวาละ 17,000 บาท รวมเป็นเงิน42,721,000 บาท ผลการเวนคืนเป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี ซึ่งเป็นถนนสายหลัก ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือเสื่อมค่าลงโจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินไม่เป็นธรรมจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 แต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 จำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่าไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ โจทก์เห็นว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงใหญ่เหมาะสมที่จะทำการพัฒนาด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์สามารถขายที่ดินได้ในราคาสูงเพราะอยู่ในที่ชุมชน การคมนาคมสะดวกมีสาธารณูปโภคครบถ้วน ใกล้สถานที่ราชการ หมู่บ้านขนาดใหญ่ ใกล้ธนาคาร และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ควรมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 150,000 บาท เนื้อที่ 2,513 ตารางวา เป็นเงิน 376,950,000บาท จำเลยชำระแล้ว 42,721,000 บาท จึงต้องชำระเพิ่มอีก 334,229,000 บาท และที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาเสื่อมลงโจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้ตารางวาละ 75,000 บาทเนื้อที่ 11,851 ตารางวา เป็นเงิน 888,825,000 บาท รวมจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ 1,223,054,000 บาท และการกระทำของจำเลยทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี จำเลยต้องมีหน้าที่จัดหาที่ดินให้เป็นทางออกจากที่ดินของโจทก์แปลงที่เหลืออยู่ออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี ขนาดไม่ต่ำกว่าความกว้าง 12 เมตรตลอดแนว ทั้งจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน1,223,054,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.25ต่อปี คือนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 รวมเป็นดอกเบี้ย 224,725,148 บาท และเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดจากการที่ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 60 วันตามกฎหมายซึ่งเกิดจากความจงใจและประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิการเรียกร้องที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ,447,779,148 บาท แก่โจทก์ และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี ของต้นเงิน 1,223,054,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจัดหาทางออกจากที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ของโจทก์สำหรับสร้างเป็นถนนขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร โดยตลอดเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี หรือให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่กระทำการภายในระยะเวลาตามกฎหมายกำหนดในมูลความเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องในจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องร้อง

จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับเป็นอัตราที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะเป็นที่ลุ่มไม่มีการพัฒนาสภาพเป็นทุ่งนาและป่าหญ้า รูปที่ดินไม่เป็นรูปทรงทางเรขาคณิต ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน จำเลยไม่จำต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง หากต้องรับผิดก็มีอัตราไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี เท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนเจ้าของรวมคนอื่น และโจทก์มิได้อุทธรณ์เรียกค่าเสียหายในค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนไว้จึงไม่อาจฟ้องเรียกได้อีก และโจทก์ไม่ฟ้องคดีเสียภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่พ้นกำหนดเวลาวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นให้งดการพิจารณาคดีไว้ก่อน และต่อมาวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 รัฐมนตรีฯ ไม่ได้วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่โจทก์ขอแก้ฟ้องและยอมรับมา เพราะฉะนั้นโจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา 60 วันดังกล่าวตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530คือ ต้องฟ้องภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องอีกต่อไปในเรื่องค่าทดแทนเวนคืนที่ดิน สำหรับคำขอของโจทก์ส่วนที่ขอบังคับให้จำเลยจัดหาทางออกสู่ถนนสาธารณะและให้จำเลยรับผิดเรื่องไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ใน 60 วันนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดหาทางออกสู่ถนนสาธารณะให้ผู้ถูกเวนคืนหรือต้องรับผิดหากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ มิได้วินิจฉัยภายในระยะเวลา 60 วัน การที่ที่ดินของโจทก์มีราคาเสื่อมลงเพราะไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนั้น โจทก์ก็สามารถเรียกค่าทดแทนเป็นค่าเสื่อมราคาของที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนได้ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ภายใน 1 ปีอยู่แล้วแต่โจทก์ก็มิได้ใช้สิทธิดังกล่าวเอง จะถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ในกรณีดังกล่าวมิได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด 60 วัน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ ลักษณะคดีไม่สามารถที่จะวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จสิ้นในประเด็นดังกล่าวได้เนื่องจากต้องมีการสืบข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงคลาดเคลื่อนต่อปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เห็นว่า ทั้งสองประเด็นที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิดหรือไม่และมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 และมาตรา 142(5) โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงว่าต้องฟ้องคดีภายในกำหนด1 ปี นับแต่พ้นกำหนด 60 วัน กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ไม่ทำการวินิจฉัยในกำหนด เมื่อการวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจของจำเลย โจทก์ไม่มีโอกาสทราบแน่ชัดว่าจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ในวันใด จึงควรให้สิทธิแก่ฝ่ายที่เสียหายในการเลือกใช้อายุความที่ยาวกว่าควรจะต้องยึดถือวันที่ทราบเข้าประกอบด้วย โจทก์เพิ่งได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ของจำเลยภายหลังฟ้องคดีนี้แล้ว การฟ้องคดีของโจทก์อยู่ในอายุความ เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายและผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี มาตรา 26 วรรคหนึ่งนี้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยนั้นก็อาจเสนอคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี กรณีที่สองเมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีเมื่อล่วงพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 ตามสำเนาหนังสืออุทธรณ์ ฯ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 12 แต่รัฐมนตรี ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ซึ่งครบกำหนดวันสุดท้ายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 เข้ากรณีที่สองดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงต้องฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าว คือต้องฟ้องภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน2541 ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีก ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งเสื่อมราคาลง สิทธิการฟ้องคดีในส่วนนี้จึงสิ้นสุดลงโดยผลของการไม่ยื่นอุทธรณ์นั้นคลาดเคลื่อนต่อปัญหาข้อกฎหมายในคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่โจทก์ได้บรรยายถึงส่วนที่เหลืออยู่ต้องเสื่อมราคาไว้แล้วจึงถือว่ามีอุทธรณ์ในส่วนนี้และในการอุทธรณ์มิได้มีรูปแบบหรือข้อกำหนดระบุสาระสำคัญไว้ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำอุทธรณ์เพียงฉบับเดียวคือหนังสืออุทธรณ์ฯ ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 12 ซึ่งกล่าวถึงที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไว้ในข้อ 2 เพียงแห่งเดียวว่า “ที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นของข้าพเจ้าผู้อุทธรณ์ทั้งเจ็ดมีเนื้อที่ทั้งสิ้นจำนวน 35 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา แต่ปรากฏว่าได้ถูกเวนคืนไปจำนวน 6 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ทำให้ที่ดินที่ไม่ถูกเวนคืนเหลืออยู่อีกจำนวน 29 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา จะต้องเสียหายเป็นอย่างมาก ที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นเปรียบเสมือนเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินทั้งหกแปลงที่อยู่ด้านหน้าติดถนนหมายเลข 346 บางพูน – รังสิต ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของข้าพเจ้าผู้อุทธรณ์เป็นแปลง ๆ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวได้ถูกเวนคืนไปแล้วพร้อม ๆ กันนี้รายละเอียดตามเอกสารหมายเลข4, 5, 6 จึงเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงที่เหลือดังกล่าวไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้ข้าพเจ้าผู้อุทธรณ์จึงใคร่ขอความกรุณาต่อ ฯพณฯ เพื่อโปรดเปิดทางให้แก่ที่ดินแปลงที่เหลือดังกล่าว” อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่มีข้อความส่วนใดเลยที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงและราคาลดลงเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงถือไม่ได้ว่ามีการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้ 2 กรณีดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว เมื่อรัฐมนตรีฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนเพิ่มภายในหนึ่งปี นับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรีฯ ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรีฯวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องเป็นคดีนี้อันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยสร้างทางออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ได้ระบุไว้ให้กระทำการตามที่โจทก์ขอ แต่ในผลแห่งกฎหมายเป็นการบังคับเอาที่ดินและกำหนดเงินค่าทดแทนโจทก์เห็นว่าการที่ไม่มีทางออกเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่สามารถกำหนดเป็นตัวเงินและการสร้างทางออกสู่ถนนสาธารณะเป็นการทดแทนอีกรูปหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายจะเรียกร้องได้ เห็นว่า ในการเวนคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 1442 ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จะต้องเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด 2 เงินค่าทดแทนไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้สำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะและประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 2 ได้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ สร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ และข้อ 6(3) ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ ข้อ 29 วรรคหนึ่งห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นหรือปลูกต้นไม้หรือพืชผลอย่างใด ๆ ในทางพิเศษหรือเพื่อเชื่อมติดต่อกับทางพิเศษ เว้นแต่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งมีความจำเป็นต้องปักเสาพาดสาย หรือวางท่อเพื่อข้ามหรือลอดทางพิเศษ ให้ขออนุญาตและทำความตกลงกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเสียก่อน จึงจะกระทำการนั้นได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเหตุลักษณะของงาน หรือในเรื่องค่าเช่า ให้เสนอรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ข้อ 30 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้ทางพิเศษอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร ข้อ 31 ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทางพิเศษ อันอาจเป็นอันตรายแก่รถหรือบุคคลซึ่งใช้ทางพิเศษ ดังนั้นเมื่อมีการเวนคืนที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นเพื่อใช้สร้างทางพิเศษสายบางปะอิน – ปากเกร็ด แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจในการวางแผนสำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษสายนี้และบำรุงรักษาทางพิเศษสายนี้ในที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนมานั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษสายนี้เพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สรุปแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share