คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2724/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ติดต่อชักจูงให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ และรับเงินบางส่วนจากผู้เสียหายไว้ ทั้งยังเป็นผู้เขียนแผนที่ให้ผู้เสียหายเดินทางไปหาพวกจำเลยที่กรุงเทพฯ เมื่อผู้เสียหายไม่ได้เดินทางไปทำงาน จำเลยก็เป็นผู้ติดต่อกับพวกจำเลยเพื่อให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะที่แบ่งแยกหน้าที่กันทำในระหว่างจำเลยกับพวกหาใช่เป็นแต่เพียงผู้แนะนำให้ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศติดต่อกับผู้ที่จะจัดส่งเองโดยตรงเท่านั้นไม่ และการที่จำเลยกับพวกรับเงินผู้เสียหายไปแล้วไม่ดำเนินการให้ผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานตามที่จำเลยกับพวกพูดรับรองไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง.
จำเลยกับพวกเคยส่งบุคคลอื่นไปไต้หวันโดยให้ถือหนังสือเดินทางนักท่องเที่ยวแล้วมีนายจ้างมาคัดเลือกไปทำงานเมื่อไปถึง โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง จำเลยกับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจ จัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 91, 83พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ให้เรียงกระทงลงโทษโดยลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 จำคุก2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าจำเลยร่วมกับพวกอีก 1 คน กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีนายมีแก้วทาสี พ่อตาผู้เสียหายมาเบิกความว่า จำเลยได้เรียกนายมีเข้าไปพูดชักชวนให้ไปบอกผู้เสียหายไปทำงานที่ไต้หวัน ถ้าไม่มีเงินค่าใช้จ่าย จำเลยก็จะช่วยจัดการให้ นายมีจึงไปบอกผู้เสียหายผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อทราบจากนายมี จึงไปหายืมเงิน 15,000 บาทนำไปมอบให้แก่นายมี โดยมีนายพรม ลาดศรี ผู้ให้ยืมเงินมาเบิกความสนับสนุน นายมีเบิกความต่อไปว่า หลังจากนั้นจำเลยได้มาถามนายมีว่าได้เงินหรือยัง นายมีบอกว่าได้มาแล้วแต่ยังไม่ครบ จำเลยให้นายมีไปที่บ้านจำเลยพบกับนายเอกชัย เตชะวงศ์ ซึ่งจำเลยบอกว่าเป็นเจ้าของบริษัทที่จะส่งคนไปทำงานต่างประเทศ นายเอกชัยให้วางเงิน 15,000 บาทเพื่อเป็นค่าวีซ่าและค่าตั๋วเครื่องบินก่อน นายมีจึงมอบเงินให้แก่จำเลย นายเอกชัยได้ทำใบรับเงินให้นายมีไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนั้นจำเลยได้พานายมีไปยืมเงินจากนางเตียง ปักกาเล จำนวน 20,000บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ โดยมีนางเตียงมาเบิกความสนับสนุนว่านายมีกับจำเลยไปหานางเตียงที่บ้าน นายมีขอยืมเงินเพื่อส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศจำเลยพูดกับนางเตียงให้นายมียืมเงินเพราะจะยืมไม่นาน มีแหล่งจะหาเงินมาใช้คืนผู้เสียหายและนายมีเบิกความว่า ได้มอบเงิน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยต่อมาจำเลยได้เขียนแผนที่ให้ผู้เสียหาย นายทองม้วน สิงห์ทอง และนายมา ศรัทธาคังซึ่งจะไปทำงานด้วยกันเดินทางไปหานายเอกชัยที่กรุงเทพมหานครโดยมีนายทองม้วนและนายมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและนายมีว่า จำเลยเป็นผู้ไปพูดชักชวนให้นายทองม้วนและนายมาไปทำงานที่ไต้หวัน และได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยคนละ 35,000 บาท หลังจากที่ไม่ได้เดินทางไปไต้หวันแล้ว จำเลยได้คืนเงินให้แก่นายทองม้วนและนายมาจึงไม่มีเหตุที่นายทองม้วนและนายมาจะมาเบิกความปรักปรำจำเลย ส่วนผู้เสียหายนั้นหลังจากไม่ได้เดินทางไปไต้หวันแล้ว ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ไปติดต่อกับนายเอกชัย แล้วนำเช็คธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขามหาสารคาม ลงวันที่ 5 เมษายน 2530 สั่งจ่ายเงิน30,000 บาท มามอบให้แก่ผู้เสียหายซึ่งต่อมาธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้เสียหายจึงไม่ได้รับเงินคืน เห็นว่าจากพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อชักจูงให้ผู้เสียหายไปทำงานที่ไต้หวัน เป็นผู้รับเงินไปบางส่วน เขียนแผนที่ให้ผู้เสียหายกับผู้สมัครงานอื่นเดินทางไปหาพวกของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร เมื่อผู้เสียหายไม่ได้เดินทางไปไต้หวัน จำเลยก็เป็นผู้ติดต่อกับพวกของจำเลยเพื่อให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่แบ่งแยกหน้าที่กันทำในระหว่างจำเลยกับพวก หาใช่จำเลยเป็นแต่เพียงผู้แนะนำให้ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศติดต่อกับผู้ที่จะจัดส่งเองโดยตรงดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ไม่และการที่จำเลยกับพวกรับเงินไปจากผู้เสียหายแล้ว แต่ไม่ดำเนินการให้ผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันตามที่จำเลยกับพวกพูดรับรองไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายได้ทำที่ไต้หวัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่าจำเลยร่วมกับพวกอีก 1 คน กระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางหรือไม่นั้น โจทก์มีนายธีรพร สายสุวรรณ ซึ่งรับราชการตำแหน่งแรงงานจังหวัดมหาสารคามมาเบิกความว่า ทั้งจำเลยและนายเอกชัยพวกของจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธในข้อนี้กับมีนายสุวรรณ อัปมาเก พยานโจทก์มาเบิกความว่า เมื่อเดือนมกราคม 2530 ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อให้จัดส่งไปทำงานที่ไต้หวัน เหตุที่ติดต่อจำเลยเพราะก่อนหน้านั้นเคยมีคนในหมู่บ้านไปทำงานที่ไต้หวัน โดยจำเลยกับนายเอกชัยเป็นผู้จัดส่งไปจำเลยได้บอกแก่นายสุวรรณว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 35,000 บาท สำหรับงานที่จะไปทำเป็นการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม มีกำหนด 1 ปี ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 บาท หากเจ้าของโรงงานดีก็สามารถต่อสัญญาได้เป็นรายปี นายสุวรรณเชื่อตามที่จำเลยบอก หลังจากนั้นนายสุวรรณก็ได้จ่ายเงินให้แก่นายเอกชัย ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2530จำเลยกับนายเอกชัยก็ได้ไปส่งนายสุวรรณกับบุคคลอื่นอีกประมาณ 13 คนขึ้นเครื่องบินไปที่ประเทศเกาหลี และพักอยู่ 4 วัน เพื่อทำวีซ่าเข้าไต้หวันเมื่อเดินทางต่อไปถึงไต้หวัน ก็มีนายจ้างมาคัดเลือกไปทำงานนายสุวรรณได้ทำงานที่โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ ทำได้ 2 เดือน ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจของไต้หวันจับกุมในข้อหาว่าวีซ่าหมดอายุเพราะออกในลักษณะนักท่องเที่ยวและถูกส่งตัวกลับประเทศไทย เห็นว่านายสุวรรณพยานโจทก์นี้เป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับจำเลย บ้านอยู่ห่างกันประมาณ1 เส้นหากจำเลยไม่ได้พูดจารับรองกับนายสุวรรณดังที่เบิกความมาแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่นายสุวรรณจะมาเบิกความปรักปรำจำเลย นอกจากนี้ก็ได้ความอีกว่า ยังมีนายประยงค์ แก้วทาสี บุตรของนายมี แก้วทาสีพยานโจทก์ที่ได้เดินทางไปพร้อมกับนายสุวรรณอีกคนหนึ่ง โดยนายมีพยานโจทก์ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับจำเลยมาเบิกความอีกว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อให้นายประยงค์ไปทำงานที่ไต้หวัน ทั้งโจทก์ยังมีนายชาทุมดี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านจำเลยมาเบิกความว่า จำเลยกับนายเอกชัยนัดหมายผู้ที่มีความสนใจจะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมาพูดคุยกันที่บ้านจำเลยหลายครั้ง ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางจึงมีความผิดในข้อหาฐานนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share