คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อัยการโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษจำเลยและคืนของกลางให้ผู้เสียหาย ศาลล่างวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ถนัดว่าของกลางเป็นของผู้เสียหาย จึงพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้อง และไม่สั่งคืนของกลางให้ผู้เสียหาย แต่ให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ดังนี้ย่อมเป็นประโยชน์ดีแก่ผู้เสียหายอยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักกล้วยไม้ของนายสุพจน์ไป รวม ๒๑ กระถาง ราคา ๗๐๐ บาท กับกระบวยรดน้ำราคา ๑๕ บาทต่อมาเจ้าพนักงานจับได้กล้วยไม้ ๑๗ กระถางกับกระบวยรดน้ำที่ถูกลักไปได้จากบ้านจำเลยเป็นของกลาง ทั้งนี้ โดยจำเลยลักไป หรือได้บังอาจรับกล้วยไม้ ๑๗ กระถางกับกระบวยรดน้ำ รวมราคา ๖๓๕ บาท อันได้มาโดยการลักทรัพย์ไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕,๓๕๗ คืนของกลางแก่เจ้าทรัพย์ และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนอีก ๘๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าของกลางนี้พระภิกษุทิ้งยกให้จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ของกลางต่างฝ่ายยังเถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ ให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ในปัญหาเรื่องของกลาง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ถนัดว่าของกลางเป็นของผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่ลักษณะที่ศาลจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ ห้ามมิให้พิพากษาลงโทษ ศาลล่างจึงพิพากษายกฟ้อง และจึงไม่สั่งคืนของกลางให้ผู้เสียหาย แต่ให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง
ที่โจทก์ฎีกาว่าในคดีหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจร แล้วมีปํญหาเถียงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลาง ศาลควรจะวินิจฉัยชี้ขาดว่าทรัพย์พิพาทเป็นของฝ่ายใด
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลล่างฟังว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ถนัดว่าของกลางเป็นของผู้เสียหาย และเมื่อโจทก์แถลงว่าหมดพยาน การที่ศาลพิพากษาให้ไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง จึงย่อมเป็นประโยชน์ดีแก่ผู้เสียหายอยู่แล้ว
พิพากษายืน

Share