คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การค้ำประกันหรือการที่บุคคลภายนอกซึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น สามารถทำได้ทั้งเพื่อการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ก่อนแล้วและหนี้ในอนาคต โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ค้ำประกันได้รู้เห็นด้วยหรือไม่ในขณะที่ลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้น ถ้าหนี้นั้นเป็นหนี้อันสมบูรณ์ผู้ค้ำประกันย่อมต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้จริง แม้จะไม่ได้ทำพร้อมกันกับสัญญากู้ก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการทำสัญญาค้ำประกันจะต้องทำพร้อมกับสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันมีการกู้ยืมเงินและรับเงินกันไปแล้วจริงจึงเป็นหนี้อันสมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไป 200,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายชำระเป็นรายเดือนและจะชำระเงินต้นให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 1 ปี โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปแล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 223,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินต้น 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ฉ้อฉลให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกัน โดยโจทก์ไม่ได้ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หนังสือสัญญากู้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยหลังวันฟ้องได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท คือโจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2533จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 23,750 บาทหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และรับเงินไปจากโจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ค้ำประกันเนื่องจากหนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำในคราวเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นในการทำสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าการค้ำประกันหรือการที่บุคคลภายนอกซึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นสามารถทำได้ทั้งเพื่อการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ก่อนแล้ว และหนี้ในอนาคต โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ค้ำประกันได้รู้เห็นด้วยหรือไม่ในขณะที่ลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้น ถ้าหนี้นั้นเป็นหนี้อันสมบูรณ์ผู้ค้ำประกันย่อมต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 จริง แม้จะไม่ได้ทำพร้อมกันกับเอกสารหมาย จ.1 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็มีผลใช้บังคับได้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการทำสัญญาประกันจะต้องทำพร้อมกับสัญญากู้ยืมเงิน และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในเอกสารหมายจ.2 โดยไม่สมัครใจนั้น จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันโดยสมัครใจและเมื่อฟังว่าหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันมีการกู้ยืมเงินและรับเงินกันไปแล้วจริงจึงเป็นหนี้อันสมบูรณ์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จำเลยที่ 2 ก็ต้องชำระแทน
พิพากษายืน

Share