แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการพิจารณาว่า คดีจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเป็นอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 10, 11 และ 12 คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้องศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าวศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกและศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีปกครองและมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันที โดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองมาแล้ว และศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่มิได้ดำเนินการแก้ไขให้มีการสอบถามโจทก์เสียก่อนดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ห้ามนำที่ดินของโจทก์ไปขายแก่บุคคลใดๆ ให้ยกเลิกเพิกถอนการรังวัดออกโฉนดที่ดินตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามออกเอกสารสิทธิใดๆ ในที่ดินของโจทก์แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2500) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2515) กับโจทก์ก่อนคนอื่น
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ฟ้องโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองพิจารณาพิพากษา จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ในการพิจารณาว่าคดีจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เป็นอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมก่อนมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อนและศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีปกครองและมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว และศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่มิได้ดำเนินการแก้ไขให้มีการสอบถามโจทก์เสียก่อนดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้น แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี