แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศออกหมายค้นบ้านเลขที่ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านเนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออกหมายค้นโดยอ้างว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล และศาลได้ออกหมายค้นโดยมีข้อกำหนดไว้ชัดเจนเพื่อค้นหาและตรวจยึดเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นตามวันเวลาดังกล่าวในหมายค้นแล้วแต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้น รวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นที่เป็นมาตรการป้องกันการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรดังกล่าวจึงเสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้น จึงไม่เกิดประโยชน์ ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะได้นัดไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านไว้แล้ว แต่ต่อมาเห็นว่า การไต่สวนคำร้องดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์แก่การพิจารณาคดีก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขคำสั่งเดิมได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
ตามคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังกล่าวบังคับแก่คดี จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวน งาน 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ยื่นคำร้องว่า มีผู้ปลอมเครื่องหมายการค้าของบริษัทเดนท์สพลาย อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ จำกัด ในสินค้าจำพวกเครื่องมือแพทย์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และจากการสืบสวนน่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ 304 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร มีเครื่องมือแพทย์ที่มีไว้เป็นความผิดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ จึงขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านเลขที่ข้างต้นให้แก่ร้อยตำรวจเอกธีระ สมบุญนา กับพวก ไปทำการตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำร้องมีเหตุผลสมควร จึงให้ออกหมายค้นให้ตามคำร้อง
นายคมกริช ศุภลักษณ์เมธา ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 304 ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยมีสิ่งของหรือมีเหตุสงสัยว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือใช้ในการกระทำผิด ผู้คัดค้านได้รับผลกระทบจากการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรองไว้ จึงขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนคำร้องโดยเรียกผู้ร้องขอให้ออกหมายค้นมาแสดงหลักฐานอันเป็นที่มาของการออกหมายค้นรายนี้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องต่อมาผู้คัดค้านขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหมายเรียกเอกสารต่าง ๆ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาประกอบการไต่สวน แต่ศาลยกคำร้องผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง และยื่นคำร้องว่า การร้องขอให้ศาลออกหมายค้นก็ดี การใช้ดุลพินิจให้ออกหมายค้นของศาลก็ดี ได้ปฏิบัติโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลได้ออกหมายค้นตามบทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีปัญหาว่าบทกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ จึงขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า การไต่สวนคำร้องตอไปจะไม่เกิดประโยชน์จึงให้งดไต่สวนเมื่องดไต่สวนคำร้องแล้วจึงไม่รับอุทธรณ์และไม่รับคำร้องที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นการตัดสิทธิของผู้คัดค้านที่จะแสดงพยานหลักฐานให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจของผู้ร้องในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติคุ้มครอง และที่สั่งให้งดการไต่สวนคำร้องทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนไว้แล้วย่อมเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมที่ผู้คัดค้านจะพึงได้รับตามระบบกฎหมาย นอกจากนี้การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็ไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องนี้หรือไม่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนคำร้องคัดค้านและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้ส่งศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาสั่งคำฟ้องอุทธรณ์ในส่วนที่คัดค้านคำสั่งให้งดการไต่สวนและคำสั่งที่ไม่รับคำร้องที่ผู้คัดค้านขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ให้ชัดเจน ส่วนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่คัดค้านคำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เรื่องขอหมายเรียกพยานเอกสารจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง จึงให้ยกคำร้องส่วนนี้ ต่อมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 เฉพาะส่วนที่คัดค้านคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้งดการไต่สวนและที่ไม่รับคำร้องที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านไว้แล้ว ต่อมาภายหลังกลับมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องดังกล่าว เป็นการปฏิเสธความยุติธรรมที่ผู้คัดค้านจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านเลขที่ 304 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านก็เนื่องจากพนักงานสอบสวน งาน 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ยื่นคำร้องขอให้ศาลดังกล่าวออกหมายค้นโดยอ้างว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัทเดนท์สพลายอินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ จำกัด ปลอม ซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ขั้นตอนการขออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ที่บัญญัติว่า ในคดีอาญา การค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมายอันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล คดีนี้ปรากฏว่า ศาลออกหมายค้นโดยมีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจตรวจค้นบ้านดังกล่าวได้ในวันที่ 13 ตุลาคม2541 ตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา จนกว่าจะเสร็จสิ้นการตรวจค้นเพื่อค้นหาและตรวจยึดเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้นและปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นตามวันเวลาดังกล่าวในหมายค้นเสร็จสิ้นแล้วแต่ไม่พบของผิดกฎหมาย ดังนี้กระบวนการในการขอออกหมายค้นการออกหมายค้นรวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นที่เป็นมาตรการป้องกันการค้นโดยปราศจากเหตุอันสมควรดังกล่าวได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็นที่มาในการขอออกหมายค้นจึงไม่เกิดประโยชน์แก่การป้องกันการตรวจค้นโดยปราศจากเหตุสมควรตามกฎหมายเพราะการตรวจค้นได้ยุติไปแล้ว ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลได้โดยการฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้นัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องคัดค้านไว้แล้ว แต่ต่อมาเห็นว่า การไต่สวนคำร้องดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์แก่การพิจารณาคดีก็ย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมได้ กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่ผู้คัดค้านร้องขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 บัญญัติว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว เห็นว่าศาลจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก็ต่อเมื่อมีปัญหาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่ตามคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติ มาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวบังคับแก่คดีแต่ประการใด จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ตามที่ผู้คัดค้านร้องขอมา ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่ผู้คัดค้านขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน