แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินโฉนดเลขที่ 5175 ที่ พ.ซื้อจากส. คชก. จังหวัดได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ว่า ผู้เช่าใช้สิทธิซื้อนาเป็นเวลาล่วงเลยมา 4 ปีเศษ นับแต่วันโอน จึงหมดสิทธิซื้อนา คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุดแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5843 ที่ พ. ซื้อจาก บ. มีคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิซื้อมาภายในกำหนดเวลา 3 ปี จึงหมดสิทธิซื้อนา โจทก์ทั้งสองจึงต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดและคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองหมดสิทธิซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง นั้นอีกต่อไป
การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่ามติของ คชก. จังหวัดเป็นโมฆะโดยอ้างว่า พ. มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อ คชก.จังหวัดก็เพื่อวัตถุประสงค์จะให้มติของ คชก.จังหวัด ไม่มีผลใช้บังคับ แต่การที่จะวินิจฉัยมติของ คชก.จังหวัดดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่มีผลให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อที่ดิน 2 แปลงนั้นได้อีก ดังนี้ ศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหานี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ทั้งสอง
การที่ คชก.จังหวัดไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส.และช. เพราะเห็นว่าไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าส.และช. ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบล ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์โดย ล. บุตรสาวซึ่งอยู่บ้านเดียวกันเป็นผู้รับแทน นอกจากนี้ ก่อนประชุม คชก.จังหวัด ประธาน คชก.ตำบลก็ได้มีหนังสือถึงประธาน คชก.จังหวัดยืนยันว่าได้ส่งอุทธรณ์ของ ส.และช.มาแล้วกรณีจึงฟังได้ว่าส.และ ช. ได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แล้ว คชก.จังหวัดจึงต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส.และช. ดังนั้น ในครั้งที่ คชก.จังหวัดประชุมไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ส.และช. จึงเป็นการไม่ชอบและยังไม่เป็นที่สุดการที่ต่อมา คชก.จังหวัดยกอุทธรณ์ของ ส.และช. ขึ้นวินิจฉัยในการประชุมครั้งต่อมา จึงไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่ามติของ คชก. จังหวัดนนทบุรีฉบับลงวันที่ 11มิถุนายน 2534 เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งเจ็ดเพิกถอนมติฉบับดังกล่าวหากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ยินยอมก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งเจ็ดให้พิพากษาว่ามติของ คชก. จังหวัดนนทบุรีฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ถึงที่สุดแล้วและเป็นมติที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เช่านาในที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ให้การว่า ในการประชุม คชก.จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 คชก. จังหวัดนนทบุรีวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชาย เพราะฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ความจริงแล้วนายสุรพลและนายสมชายยื่นอุทธรณ์ต่อประธาน คชก. ตำบลลำโพภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและประธาน คชก.ตำบลลำโพส่งอุทธรณ์ไปยังประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรี ณ ที่ทำการปกครองจังหวัดนนทบุรี แต่เจ้าหน้าที่รับอุทธรณ์ไม่ได้นำอุทธรณ์เสนอต่อประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรี คชก.จังหวัดนนทบุรีจึงมีคำวินิจฉัยคลาดเคลื่อนไปทั้งคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นคำวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งข้อพิพาทคชก.จังหวัดนนทบุรีจึงมีอำนาจรับพิจารณารับอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายและวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ได้ ส่วนนางสาวพรทิพย์อุทธรณ์ต่อประธาน คชก.ตำบลลำโพภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย คชก.จังหวัดนนทบุรีจึงมีอำนาจพิจารณารับอุทธรณ์และวินิจฉัยคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้ร่วมกันเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1856ตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ของนายปาน เตมียชาติ ทำนาตั้งแต่ปี 2498 ต่อมานายปานถึงแก่กรรม ที่ดินตกทอดแก่ทายาท 7 คน ได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็น 7 แปลง โจทก์ทั้งสองยังคงทำนาในที่ดินดังกล่าว ต่อมาทายาทซึ่งได้รับโอนที่ดิน 4 คน คือ นางสงบ วงศ์ทองทิว ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5175 ให้แก่นางสาวพรทิพย์ วัฒนชาติกนันท์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2528 นางบังอร ยอดนิล ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5843 ให้แก่นางสาวพรทิพย์ วัฒนชาติกนันท์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2528 และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5174 ให้แก่นายพรชัย โศภิษฐ์พงษธร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 นางอัมพร ยอดนิล ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5177 ให้แก่นายสุรพล ซอฐานานุศักดิ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 และนายอุดม เตมียชาติขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5176 ให้แก่นายสุรพล ซอฐานานุศักดิ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2530 ต่อมานายสมชาย ซอฐานานุศักดิ์ ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับนายสุรพลในที่ดินทั้ง 2 แปลงนั้นด้วย ประมาณกลางเดือนมกราคม 2532 โจทก์ที่ 1 ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลลำโพ (คชก.ตำบลลำโพ)เพื่อวินิจฉัยให้ขายที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว คชก.ตำบลลำโพมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2532 ว่า นายผิน นาคบาง (โจทก์ที่ 1) เช่าที่ดินทั้ง 5 แปลงทำนาผู้ให้เช่านาขายนาโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ผู้เช่านาจึงมีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลลำโพ เอกสารหมาย จ.8 มีผู้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลำโพต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดนนทบุรี (คชก. จังหวัดนนทบุรี) คชก.จังหวัดนนทบุรีประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 มีความเห็นไม่รับอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายเพราะมิได้ยื่นผ่านประธาน คชก.ตำบลลำโพและรับอุทธรณ์ของนางสงบ แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของนางสงบว่า นางสงบได้โอนขายนาให้แก่นางสาวพรทิพย์ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2528 เป็นเวลาล่วงเลยมา 4 ปีแล้ว ผู้เช่านามิได้ใช้สิทธิซื้อนาภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันโอนตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 นายผิน นาคบาง (โจทก์ที่ 1) จึงหมดสิทธิซื้อนาตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.12 ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2532 นายทองดี ธูปแก้ว ประธาน คชก.ตำบลลำโพมีหนังสือถึงประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรี แจ้งว่านางสาวพรทิพย์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลำโพ ต่อ คชก.จังหวัดนนทบุรี โดยยื่นอุทธรณ์ต่อประธาน คชก.ตำบลลำโพโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ประธาน คชก.ตำบลลำโพ ไม่ได้นำอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ส่ง คชก.จังหวัดนนทบุรี เพราะในตำบลลำโพมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในทำนองเดียวกันหลายรายและยื่นอุทธรณ์มายังประธานคชก.ตำบลลำโพหลายเรื่อง จึงสับสน และได้ส่งคำอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ลงวันที่ 3 เมษายน 2532 ไปยังประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรี ครั้นวันที่ 25 กันยายน2532 นายทองดีประธาน คชก.ตำบลลำโพก็มีหนังสือถึงประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรียืนยันอีกว่านายสุรพลและนายสมชายได้ยื่นอุทธรณ์ผ่าประธาน คชก.ตำบลลำโพแล้วแต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับวันและเวลาในการยื่นอุทธรณ์ให้ประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรีทราบ คชก.จังหวัดนนทบุรีได้ประชุมแล้วมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายและของนางสาวพรทิพย์ว่าได้ยื่นอุทธรณ์โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หรือไม่ ต่อมา คชก.จังหวัดนนทบุรีประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 ซึ่งในระเบียบวาระที่ 3 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การยื่นอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายถูกต้องตามกฎหมายและรับวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายว่าไม่มีการเช่านาพิพาทที่นายสุรพลและนายสมชายรับโอนมา และในระเบียบวาระที่ 4 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นำอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์เข้าพิจารณา แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ว่า นายผิน นาคบางและนางบุญช่วย นาคบาง (โจทก์ทั้งสอง) ใช้สิทธิขอซื้อที่นาทั้ง 2 แปลง เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิขอซื้อนา ภายหลังที่ คชก.จังหวัดนนทบุรีมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องนายอุดม นางอัมพร นายสุรพล และนายสมชายเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5176 และ 5177 และเพิกถอนการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้ง 2 แปลงข้างต้น และโอนขายที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1024/2533 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่า คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลำโพถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7057/2538 และฟ้องนางบังอรกับนางสาวพรทิพย์เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5843 แล้วโอนขายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสำเนาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1921/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิซื้อนาภายในกำหนดเวลา 3 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2538
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า มติของ คชก.จังหวัดนนทบุรีลงวันที่ 11มิถุนายน 2534 ในเรื่องอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์และอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายเป็นโมฆะหรือไม่ ปัญหาประการแรกเกี่ยวกับอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ซึ่ง คชก.จังหวัดนนทบุรี มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นำอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์เข้าพิจารณา แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของนางสาวพรทิพย์ว่า โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิขอซื้อนาทั้ง 2 แปลงเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิขอซื้อนานั้น เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5175 ที่นางสาวพรทิพย์ซื้อจากนางสงบ คชก.จังหวัดนนทบุรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของนางสงบเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ว่า ผู้เช่าใช้สิทธิซื้อนาเป็นเวลาล่วงเลยมา 4 ปีเศษ นับแต่วันโอน จึงหมดสิทธิซื้อนา คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5843 ที่นางสาวพรทิพย์ซื้อจากนางบังอรมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2538 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ใช้สิทธิซื้อมาภายในกำหนดเวลา3 ปี จึงหมดสิทธิซื้อนา โจทก์ทั้งสองจึงต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรี และคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองหมดสิทธิซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลงนั้นอีกต่อไป และเนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่ามติของ คชก.จังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2534 ส่วนนี้เป็นโมฆะโดยอ้างว่านางสาวพรทิพย์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลำโพ ต่อ คชก.จังหวัดนนทบุรี นั้นก็เพื่อวัตถุประสงค์จะให้มติของ คชก.จังหวัดนนทบุรีลงวันที่ 11 มิถุนายน 2534ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยมติของ คชก.จังหวัดนนทบุรีดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ก็ไม่มีผลให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อที่ดิน 2 แปลงนั้นได้อีก จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหานี้อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ทั้งสอง
ส่วนปัญหาประการที่สองเกี่ยวกับอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายซึ่ง คชก.จังหวัดนนทบุรีมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการยื่นอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายถูกต้องตามกฎหมายและรับวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายว่าไม่มีการเช่านาพิพาทที่นายสุรพลและนายสมชายรับโอนมานั้น เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมของ คชก.จังหวัดนนทบุรีลงวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ระเบียบวาระที่ 10 เอกสารหมาย จ.12 ระบุว่าประชุม คชก.จังหวัดนนทบุรีเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลลำโพและเห็นควรพิจารณาอุทธรณ์รายอื่นต่อไป ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เท่ากับคชก.จังหวัดนนทบุรีไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายเพราะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลลำโพ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่ได้ความจากนายทองดี ธูปแก้วประธาน คชก.ตำบลลำโพ ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า นายสุรพลและนายสมชายได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลลำโพภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์โดยนางลำดวนขำใบ บุตรสาวซึ่งอยู่บ้านเดียวกันเป็นผู้รับแทน นางลำดวนก็เบิกความรับในข้อนี้ว่าได้รับต้นฉบับอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายโดยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานนอกจากนี้ ก่อนประชุม คชก.จังหวัดนนทบุรี วันที่ 2 สิงหาคม 2532 นายทองดีประธาน คชก.ตำบลโพก็ได้มีหนังสือถึงประธาน คชก.จังหวัดนนทบุรียืนยันว่าได้ส่งอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายมาแล้ว นาวาอากาศโทชิน นาคบาง พยานโจทก์ทั้งสองก็เบิกความเจือสมพยานจำเลยว่า นายสุรพลและนายสมชายยื่นอุทธรณ์ต่อประธาน คชก.ตำบลลำโพ แต่ยื่นหลังจากครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ คชก.ตำบลลำโพมีคำวินิจฉัย อนึ่ง ก่อน คชก.จังหวัดนนทบุรีจะประชุมลงมติในวันที่ 11 มิถุนายน 2534 คชก.จังหวัดนนทบุรีก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก่อนแล้ว โดยเฉพาะนายไสว เหมือนสิน นายบากา หมัดซา และนายสมจิตร จันทร์แตน พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้เช่าและเข้าร่วมประชุม คชก.จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 ด้วยก็เห็นพ้องกับมติของที่ประชุมว่าการยื่นอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายถูกต้องตามกฎหมายข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายสุรพลและนายสมชายได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านประธาน คชก.ตำบลลำโพโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง แล้ว ดังนั้น คชก.จังหวัดนนทบุรีจึงต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชาย การที่ คชก.จังหวัดนนทบุรีประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายจึงเป็นการไม่ชอบ และยังไม่เป็นที่สุด เพราะยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ไปในทางหนึ่งทางใดเพื่อคู่กรณีจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57 เมื่อฟังว่านายสุรพลและนายสมชายยื่นอุทธรณ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้วการที่ คชก. จังหวัดนนทบุรียกอุทธรณ์ของนายสุรพลและนายสมชายขึ้นวินิจฉัยในการประชุมครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2534 จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56 มติของที่ประชุมจึงไม่เป็นโมฆะ
พิพากษายืน