แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 ศาลจะให้ โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามิได้ระบุให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์การที่จำเลยโฆษณาคำพิพากษาแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์โดยมีข้อความว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ตรงตามคำพิพากษาแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83,91 และ 332(2) และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรอันได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน สยามรัฐและฐานเศรษฐกิจมีกำหนด 10 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายทั้งปวงเพื่อการนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 328 รวม 2 กรรมจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 เดือน และปรับกระทงละ 1,500 บาทรวมจำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 1,500 บาท รวมปรับ3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 กับให้จำเลยทั้งสองจัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ สยามรัฐและฐานเศรษฐกิจมีกำหนด 7 วันติดต่อกัน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายทั้งปวงเพื่อการนี้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 83, 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษา จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ส่วนการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำเลยแถลงว่า สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไม่มีนโยบายลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาในขณะนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถือได้ว่าเป็นการโฆษณาคำพิพากษาแล้วส่วนการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไม่ได้ถือเป็นกรณีพ้นวิสัยเมื่อจำเลยไม่อาจโฆษณาคำพิพากษาได้ จำเลยจึงไม่จำต้องโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอีก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการพ้นวิสัยให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์หนังสือของสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเลขที่ อ.066/2537 ลงวันที่ 19 กันยายน 2537ที่แจ้งไปถึงจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า ตามหนังสือดังกล่าวมิได้ปฏิเสธว่าลงโฆษณาให้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะลงในปี 2538 ไม่ได้เนื่องจากเนื้อที่ในการลงโฆษณาได้เปิดจำหน่ายล่วงหน้าให้แก่บุคคลภายนอกไปจนหมดแล้วจนถึงปีหน้า ซึ่งหมายถึงปี 2538ถูกบุคคลภายนอกจองเนื้อที่โฆษณาไปแล้ว การจะลงโฆษณาช้าหรือเร็วมิใช่ประเด็นสำคัญยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้และโจทก์ทั้งสองก็ประสงค์ที่จะให้ลงโฆษณาตลอดเวลา ขอแต่ให้จำเลยทั้งสองแสดงเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยมีการส่งคำพิพากษาไปให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงให้ก่อน ถ้าหากได้รับการปฏิเสธจึงค่อยถือว่าไม่อาจดำเนินการลงโฆษณาได้ เพราะเป็นการพ้นวิสัย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังมิได้ส่งคำพิพากษาไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการพ้นวิสัยตามที่จำเลยที่ 2ฎีกา ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองย่อคำพิพากษาแล้วนำไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐโดยเอาข้อความที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีไปลงเพียง 4 ถึง 5บรรทัด แต่ไม่ได้มีการลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งฉบับเป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 ได้บัญญัติไว้ว่าในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดศาลอาจสั่ง (1) ให้ยึดและทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้มีชำระค่าโฆษณา จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าศาลจะให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามิได้ระบุให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งฉบับปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาแต่บางส่วนโดยมีข้อความว่า จำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องก็เป็นการฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน