คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ทำเกินขอบอำนาจโดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จำนองต่อจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการฟ้องบุพการีต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ก็ตาม ก็เป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลถายนอกด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนโจทก์ กระทำการปลอมหนังสือมอบอำนาจว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 195 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยความจริงโจทก์เพียงแต่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำการไถ่ถอนจำนองแทนโจทก์เท่านั้น ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายแก่จำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นประกันต่อจำเลยที่ 3 โดยปราศจากอำนาจและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และเลขที่ 195 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิต พร้อมบ้านเลขที่ 947 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จงหวัดพิจิตร และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวคืนโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโจทก์เป็นบุตรสืบสายโลหิตของจำเลยที่ 1 ฟ้องของโจทก์เป็นคดีอุทลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงว่าจำเลยที่ 1 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จริง และก่อนคดีนี้โจทก์ได้ร้องขอให้พนักงานอัยการจังหวัดพิจิตรฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 340/2540 ของศาลชั้นต้น และต่อมาศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการชี้สองสถานและงดสืบพยานศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 195 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ทำเกินขอบอำนาจโดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จำนองต่อจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการฟ้องบุพการีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าว เป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นบุพการีของโจทก์ ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมตกไปด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share