คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้าระหว่างโจทก์จำเลยมีความข้อหนึ่งว่าถ้ามีกรณีโต้แย้งขึ้นเกี่ยวกับข้อสัญญา ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าหม้อแปลงเกิดชำรุดเพราะความบกพร่องของพนักงานของโจทก์หรือเพราะเสื่อมคุณภาพเนื่องจากใช้งาน ไม่ใช่ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาล

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาข้อ 15 ถ้ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อสัญญาคู่สัญญาให้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จะนำคดีมาฟ้องศาลมิได้พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหาแต่เพียงว่า โจทก์มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องศาลหรือไม่ ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อหม้อแปลงชนิดซิงเกิ้ล เฟส ระบบ 22000-460/230 วี จำนวน50 เครื่อง รวมเป็นเงิน 20,286 เหรียญอเมริกันและชนิดซิงเกิ้ล บุชชิ่ง ระบบ19000-460/230 วี 3 ขนาด รวม 220 เครื่อง รวมเป็นเงิน 38,257.50 เหรียญอเมริกันจากจำเลย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2515 จำเลยได้ส่งมอบหม้อแปลงดังกล่าวให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว จำเลยรับรองคุณภาพของหม้อแปลงทั้งหมดเป็นเวลา 5 -10 ปี ต่อมาในระยะเวลาประกันคุณภาพ หม้อแปลงเหล่านี้เกิดชำรุดรวม 9 หม้อ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าซ่อมจากจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว ไม่มีกรณีโต้แย้งเกี่ยวแก่ข้อสัญญาในการซื้อขายซึ่งจะต้องอนุญาโตตุลาการตามข้อ 15 แห่งเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แต่อย่างใด แต่เมื่อโจทก์นำไปใช้งานแล้วหม้อแปลงเกิดชำรุดขึ้นจำเลยให้การรับว่าหม้อแปลงชำรุดจริง แต่เป็นเพราะพนักงานของโจทก์ใช้ด้วยความบกพร่องไม่ระมัดระวัง หรือชำรุดเพราะเสื่อมคุณภาพเนื่องจากใช้งานเป็นเวลานาน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ใช่ข้อโต้แย้งเกี่ยวแก่สัญญาซื้อขาย ข้อ 15 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้”

พิพากษายืน

Share