คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การฟ้องศาลให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามเตือน ให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวอยู่ในตัว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตามป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลแรงงานกลางให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเข้าเป็นพนักงานประจำรายวันที่โรงงานพิษณุโลก ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ลาออกจากงานมีอายุงาน 14 ปี และ 9 ปี ตามลำดับ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย แต่จำเลยจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปโดยไม่นำค่าครองชีพมารวมคำนวณ ขอให้บังคับจำเลยชำระบำเหน็จส่วนที่ขาดให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,600 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 3,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ค่าครองชีพไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพิ่มจากค่าจ้างอัตราปกติเพื่อเป็นเงินสวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อย จึงไม่อาจนำมารวมเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จ โจทก์ทั้งสองไม่เคยทวงถามค่าครองชีพจำเลยจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ย และโจทก์ที่ 2ไม่ได้ยื่นขอรับบำเหน็จภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่งถือว่าหมดสิทธิในเงินนี้แล้ว
วันนัดพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงในเรื่องวันทำงาน วันลาออกกับระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จ ศาลแรงงานกลางจึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จที่ขาด แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องต่อศาลแรงงานกลางให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จส่วนที่ขาด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการทวงถามอันจะมีผลให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดในดอกเบี้ยแก่โจทก์ และหากฟังว่าจำเลยต้องรับผิดก็ควรจะรับผิดก็ควรจะรับผิดตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204วรรคแรก ได้บัญญัติไว้เพียงว่าภายหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว โดยไม่ได้กำหนดรูปแบบคำเตือนไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร การฟ้องศาลให้จำเลยชำระบำเหน็จแก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามเตือนให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวอยู่ในตัว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคแรก หาใช่เริ่มรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share