คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2687-2688/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีละเมิด โจทก์ที่ 2 เรียกค่าปลงศพและค่ารถจักรยานยนต์ที่เสียหาย ได้บรรยายความเสียหายแต่ละอย่างซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้เรียกร้องโดยกำหนดจำนวนเงินที่ จำเลยจะต้องรับผิดไว้ ส่วนรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าใดเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่ง สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม พ. ผู้ตายเป็นบุตรโจทก์ที่1กับป. ต่อมาได้หย่ากัน โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ทำละเมิดเป็นเหตุ ให้ พ.ตายได้
ผู้ตายไม่มีทายาทอื่น บิดามารดาได้ถึงแก่ความตายไปหมด แล้ว ผู้ตายยังไม่มีครอบครัวอาศัยอยู่กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้ทำการปลงศพ โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเรียก ค่าปลงศพผู้ตายได้
ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเนื่องจากมีผู้ทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ตายแม้จะได้ความว่าผู้ตายกำลังเรียนอยู่ใน วิทยาลัยและในมหาวิทยาลัยเมื่อเรียนจบออกมาประกอบอาชีพ ย่อมจะมีรายได้พอที่จะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเป็นมารดาได้ตามควรแม้จะเป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอน ก็ตาม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดให้ภายในเวลาที่เห็นสมควร ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลสั่งรวมพิจารณาโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1โจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของนายพิเชฐ รัตนโยธิน โจทก์ที่ 2 เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายเอนก อยู่สวัสดิ์ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถจักรยานยนต์ที่นายพิเชฐ รัตนโยธิน ขับขี่ซึ่งมีนายเอนก อยู่สวัสดิ์ นั่งซ้อนท้ายเป็นเหตุให้นายพิเชฐและนายเอนกถึงแก่ความตายขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาในสำนวนแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลัง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของนายพิเชฐฝ่ายเดียว ฟ้องของโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกบริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัดผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุเข้ามาเป็นจำเลยร่วมทั้งสองสำนวน
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยร่วม เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของนายพิเชฐฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของนายเอนก รถจักรยานยนต์ไม่ใช่ของนายเอนกฟ้องของโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไปจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน130,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมชำระเงินน 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 โดยจำเลยร่วมร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 รวม 310,000 บาท โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในวงเงิน100,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 รวม 35,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับค่าเสียหายจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัย คงมีปัญหาเฉพาะฟ้องของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ที่ 2 เรียกค่าปลงศพและค่ารถจักรยานยนต์ที่เสียหาย ความเสียหายแต่ละอย่างโจทก์ที่ 2 ได้เรียกร้องโดยกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดไว้ ส่วนรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าใดเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ที่ 2 ไม่เคลือบคลุม
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วโจทก์ที่ 1 นำสืบว่า นายพิเชฐผู้ตายเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 เกิดกับนายประหยัด แก้วชูเชื้อ ต่อมาได้หย่ากัน โจทก์ที่ 1 ได้ส่งเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 ประกอบคำเบิกความ แม้ทนายจำเลยจะค้านว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้ก่อนวันสืบพยานก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ได้เบิกความรับรองว่านายพิเชฐผู้ตายเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 จำเลยมิได้สืบหักล้างให้เห็นเป็นประการอื่น เชื่อว่าโจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของนายพิเชฐผู้ตายจริง โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 นำสืบว่านายแช่มหรือจ้อยเป็นบุคคลคนเดียวกันและเป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 และนายเอนกผู้ตาย ผู้ตายไม่มีทายาทอื่น บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ผู้ตายยังไม่มีครอบครัวอาศัยอยู่กับโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้ทำการปลงศพ โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพได้
ฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใดนั้น พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 1เรียกค่าขาดไร้อุปการะมาเดือนละ 2,000 บาทเป็นเวลา 20 ปี ได้ความว่านายพิเชฐผู้ตายกำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ปีที่ 3 และกำลังเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเรียนจบออกมาประกอบอาชีพย่อมจะมีรายได้พอที่จะให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาได้ตามควรแม้จะเป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอนก็ตาม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดให้ภายในเวลาที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยรับผิดเดือนละ 1,000 บาท มีกำหนด 10 ปีนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share