คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ไม่ขัดแย้งกับ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพียงแต่ตามสภาพของการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนหรือทางสาธารณประโยชน์ จำเป็นต้องรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ขวางถนน หรือทางสาธารณประโยชน์นั้น แม้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อจะเป็นโบราณสถาน วัด มัสยิด หรือปูชนียสถานที่คนเคารพนับถือก็ตาม ก็ต้องรื้อไปจึงจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ การสร้างสิ่งใหม่หรือการทำถนนเพื่อสาธารณประโยชน์และการผังเมืองตามความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการจราจรจึงทำได้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติหรือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อการนั้นโดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างไปจาก พระราชบัญญัติโบราณสถานฯ คณะกรรมการดำเนินการตัดถนนทางหลวงเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยาฯ พ.ศ. 2528 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว ซึ่งต่อมาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปทำความตกลงในเรื่องค่าทดแทนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรณีเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าทดแทน จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 63

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2049เนื้อที่ดินทั้งหมด 2 งาน 92 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้างในที่ดินคือบ้านเลขที่ 269, 269/1-6, 267 และ 268 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย ที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ถนนเจริญกรุงแขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร สำหรับบ้านเลขที่ 269 นั้นเป็นบ้านเรือนโบราณ อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504อธิบดีกรมศิลปากรจึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23สิงหาคม 2528 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเรือนทรงไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา และแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2528 ซึ่งครอบคลุมที่ดินโฉนดเลขที่ 2409 และบ้านเลขที่ 269 ของโจทก์อันได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถานดังกล่าวมาแล้วด้วย ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดแนวทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินมีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์และดำเนินการเกี่ยวกับกิจการก่อสร้างทางหลวงในอสังหาริมทรัพย์และดำเนินการเกี่ยวกับกิจการก่อสร้างทางหลวงในอสังหาริมทรัพย์ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มีหนังสือคำสั่งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามจะเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวของโจทก์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2529 การที่จำเลยทั้งสามมีหนังสือคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์รื้อถอนโบราณสถานดังกล่าวออกไปเพื่อสร้างถนนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และกรมศิลปากรได้เจรจาให้จำเลยทั้งสามเบี่ยงการสร้างถนนโดยไม่แตะต้องโบราณสถานดังกล่าวและไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินใหม่ แต่จำเลยทั้งสามไม่ยินยอมขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสามที่ กท. 4000/12936และคำสั่งที่ กท. 4000/12937 ลงวันที่ 23 กันยายน 2529 ทั้งสองฉบับเสีย ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องครอบครอง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2049 แขวงสี่พระยาเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การสร้างทางหลวงเทศบาลซึ่งต้องผ่านที่ดิน ที่ดินเพื่อทำการเวนคืนมาก่อนหลายปี และใน พ.ศ. 2526กรุงเทพมหานคร ทำการสำรวจแนวเขตเพื่อเตรียมออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ดินเพื่อทำการเวนคืนมาก่อนหลายปีและใน พ.ศ. 2526 กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งที่ 624/2526 แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าทดแทนที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนโครงการเพื่อทำหน้าที่เจรจาตกลงจ่ายเงินทดแทนเบื้องต้นแล้ว และในพ.ศ. 2527 ก็ได้เริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการเจรจาทำความตกลงกับเจ้าของที่ดินและอาคารได้บางส่วน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม2528 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา และแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และตั้งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 กำหนดให้ทางหลวงสายที่ผ่านที่ดินและบ้านพิพาทนี้เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งทำให้จำเลยมีอำนาจตามข้อ 66 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ที่จะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินเพื่อดำเนินการสร้างทางหลวง จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงได้มีหนังสือที่กท. 4000/12936 และที่ กท. 4000/12937 ลงวันที่ 23 กันยายน 2529แจ้งกำหนดวันเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์ทราบว่าจะเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทในวันที่ 31 ตุลาคม 2529 หนังสือคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นโจทก์ทราบโครงการสร้างทางหลวงสายนี้ และทราบว่าบริเวณที่ดินและบ้านเรือนทรงไทยของโจทก์อยู่ในแนวเขตจะถูกเวนคืนอยู่แล้ว แต่โจทก์ก็ได้เสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเป็นกรณีพิเศษโดยด่วนให้อธิบดีกรมศิลปากรออกประกาศเป็นโบราณสถาน แล้วอ้างอำนาจการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของอธิบดีกรมศิลปากรมาเป็นเหตุฟ้องห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องครอบครองหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินและบ้านพิพาทนี้จึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนั้นเรือนทรงไทยของโจทก์สามารถที่จะรื้อถอนออกเป็นชิ้นส่วนเพื่อนำไปประกอบสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินอื่นอีกได้โดยไม่เสียรูปทรงได้โดยง่าย การที่จะเบี่ยงเบนแนวถนนเพื่อหลีกเลี่ยงการรื้อถอนบ้านพิพาทของโจทก์นั้นยุ่งยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย เพราะหากมีการสร้างเบี่ยงเบนให้พ้นจากบ้านพิพาทของโจทก์แล้วแนวทางหลวงที่จะสร้างขึ้นใหม่จะมีลักษณะเป็นแนวโค้งอันจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย และไม่สวยงามและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจแนวเขตใหม่อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา พ.ศ. 2528 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ไม่ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504เพียงแต่ตามสภาพของการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนหรือทางสาธารณประโยชน์จำเป็นต้องรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ขวางถนนหรือทางสาธารณประโยชน์นั้น แม้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อจะเป็นโบราณสถาน วัด มัสยิด หรือปูชนียสถานที่คนเคารพนับถือก็ตามก็ต้องรื้อไปจึงจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ การสร้างสิ่งใหม่หรือการทำถนนเพื่อสาธารณประโยชน์และการผังเมืองตามความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการจราจรจึงทำได้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติหรือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อการนั้น โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองดูแลรักษา บูรณะและซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุกับปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบ บุกรุกขุดค้นและทำลายโบราณสถานลักลอบ นำหรือส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีออกนอกราชอาณาจักรเป็นสำคัญ พระราชกฤษฎีกาและประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงมิได้มีความประสงค์จะลบล้างบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยาฯ พ.ศ. 2528 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2528 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ทั้งนี้ตามมาตรา 2 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ซึ่งเป็นวันก่อนที่อธิบดีกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนบ้านพิพาทเป็นโบราณสถานเรือนทรงไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 การเวนคืนที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก่อนแล้วโดยชอบ ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสามมีอำนาจเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทได้หรือไม่ เพียงใดนั้น ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 63 บัญญัติว่า “เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง…ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์….” ข้อ 65บัญญัติว่า “ในระหว่างกำหนดเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจภายในเขตตามแผนที่ดังต่อไปนี้ (1) เข้าไปทำการอันจำเป็นเพื่อการสำรวจหรือตรวจสอบวัตถุสำหรับใช้งานทางจนกว่าจะเสร็จ (2)กำหนดเขตที่ดินที่ประสงค์จะเวนคืน และแนวเขตของกิจการซึ่งประสงค์จะกระทำบนที่ดินนั้น…” ข้อ 66 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับและรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์…มีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและดำเนินการสร้างทางหลวง หรือดำเนินกิจการใด ๆ เกี่ยวกับการสร้างทางหลวงในอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ได้” ข้อ 67 วรรคแรกบัญญัติว่า “….ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์…ชำระค่าทดแทนตามความเป็นธรรมในส่วนที่ได้เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือขนย้ายทรัพย์สินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น…” และข้อ 67 วรรคท้าย บัญญัติว่า”การที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ฟ้องคดียังศาล…ไม่เป็นเหตุให้การครอบครองอสังหาริมทรัพย์การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือการขนย้ายทรัพย์สินต้องสะดุดหยุดลง” เห็นว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยาฯ พ.ศ. 2528 ใช้บังคับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อชำระค่าทดแทนแล้ว มีอำนาจเข้าครอบครองบ้านพิพาทและรื้อถอนบ้านพิพาทได้ เมื่อปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าที่ดินอาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนโครงการจากถนนสี่พระยาถึงถนนสุรวงศ์ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 624/2526 จัดทำแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินที่เวนคืน แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทำความตกลงเรื่องค่าทดแทนตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 484/2528 กับได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินและบ้านพิพาท และแจ้งกำหนดวันเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิและอำนาจที่จะเข้าครอบครองและดำเนินการในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามหนังสือของจำเลยทั้งสาม เอกสารหมายจ.6 และ จ.7 จำเลยทั้งสามไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 63 โดยหนังสือดังกล่าวไม่ได้แจ้งขอชำระค่าทดแทนให้โจทก์ หรือได้วางเงินค่าทดแทนที่ศาล จำเลยทั้งสามต้องชำระค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ก่อน หากตกลงกันไม่ได้หรือโจทก์ไม่ยอมรับจำเลยทั้งสามต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางศาลก่อนจึงจะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ จำเลยบอกเพียงว่าโจทก์จะไปเรียกร้องค่าทดแทนได้ที่กองรังวัดที่ดินและที่สาธารณะ สำนักงานโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครชั้น 3 นั้น ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการตัดถนนทางหลวงเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยาฯ พ.ศ. 2528 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งต่อมาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปทำความตกลงในเรื่องค่าทดแทนกับจำเลยที่ 1และที่ 2 กรณีเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าทดแทนจำเลยทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางศาลส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่รัฐออกพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แสดงให้เห็นว่ารัฐมีเจตจำนงและประสงค์จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป จำเลยทั้งสามไม่ได้ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ของรัฐเลยทั้งอธิบดีกรมศิลปากรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.21 ขอให้เบี่ยงเบนถนนออกไปจากบ้านพิพาทเพียง 3 เมตร แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่เอื้อเฟื้อต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาตินั้น ข้อนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้อำนาจเวนคืนที่ดินพิพาทและกำหนดแนวทางหลวงที่สร้างไว้ตามกฎหมายก่อนที่กรมศิลปากรจะได้ประกาศขึ้นทะเบียนบ้านพิพาทเป็นโบราณสถานเรือนทรงไทย ทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าทดแทนที่ดินอาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนที่จะสร้างไว้แล้ว หากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาท ก็ต้องมีการเวนคืนที่ดินของผู้อื่นเพิ่มขึ้นจากเดิมย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินผู้อื่นที่ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินจะต้องถูกเวนคืน และจำต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจแนวถนนใหม่ประกอบกับหากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนไป ถนนตรงบริเวณนั้นจะเป็นทางโค้ง อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและเกิดความไม่คล่องตัวของการจราจรได้ นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของนายสุวิชย์ รัศมิภูติ รองอธิบดีกรมศิลปากร พยานโจทก์เองว่าบ้านพิพาทสามารถถอดแยกเป็นส่วนต่าง ๆ และนำไปประกอบเป็นรูปทรงเดิมได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมสร้างทางเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาท จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ดุลพินิจตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้โดยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share