คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญต้องนับแต่วันรับราชการรับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ซึ่งมิใช่อัตราข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้างตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 23
ระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2477 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2479 โจทก์เป็นข้าราชการวิสามัญต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการสามัญเมื่อ พ.ศ.2480 โดยเจ้ากระทรวงเห็นสมควรบรรจุในชั้นนั้นเข้าอันดับเงินเดือนเท่าที่ได้รับอยู่ โดยได้รับอนุมัติของ ก.พ.แล้ว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2479 มาตรา 74 จึงเห็นได้ว่าการยกฐานะหรือเปลี่ยนฐานะของโจทก์เป็นไปโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวงซึ่งเห็นสมควรบรรจุหาใช่เป็นไปโดยกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่จึงไม่ชอบที่จะนับระยะเวลาระหว่างที่เป็นข้าราชการวิสามัญดังกล่าวเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 23 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งนักการ ระหว่าง พ.ศ. 2473ถึง พ.ศ. 2479 รวม 7 ปี รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 มีบทบัญญัติแบ่งข้าราชการเป็นสามัญและวิสามัญ นักการศาลเป็นข้าราชการวิสามัญต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 โดยพระราชบัญญัตินี้โจทก์ได้รับยกฐานะหรือเปลี่ยนฐานะหรือเลื่อนฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมาครั้งสุดท้ายได้เลื่อนเป็นชั้นตรี ตำแหน่งรองจ่าศาล ได้รับเงินเดือน 1,200 บาท ครบเกษียน พ.ศ. 2502 รวมเวลารับราชการ 31 ปี 3 เดือน 7 วัน ได้ยื่นแบบส. เพื่อขอรับบำนาญจากจำเลย จำเลยตัดวันรับราชการออกเหลือเพียง 28 ปี 4 เดือน คิดเป็นเงินบำนาญที่โจทก์ได้รับ 672 บาท ถ้าจำเลยไม่ตัดออก 3 ปี โจทก์จะได้บำนาญเพิ่มอีกเดือนละ 72 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินบำนาญค้างจ่ายเป็นเงิน 4,248 บาท กับดอกเบี้ยให้จำเลยเพิ่มเงินบำนาญให้โจทก์เดือน 72 บาท ฯลฯ

จำเลยให้การว่าระยะเวลาระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2477 ถึงวันที่31 มีนาคม 2479 โจทก์รับเงินเดือนในอัตราข้าราชการวิสามัญ จึงนับเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญไม่ได้ ฯลฯ

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนั้น ต้องนับแต่วันรับราชการรับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนซึ่งมิใช่อัตราข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ในคดีนี้ปรากฏว่าระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2477 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2479 นั้น โจทก์เป็นข้าราชการวิสามัญ ฉะนั้น จึงไม่อาจนับระยะเวลาดังกล่าวนี้สำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายดังยกขึ้นกล่าวนั้นได้

ตามมาตรา 23 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการวิสามัญที่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ยกฐานะหรือให้เปลี่ยนฐานะเป็นข้าราชการที่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญตามมาตรา 7 ได้ และให้นับเวลาระหว่างที่เป็นข้าราชการวิสามัญที่ติดต่อกับวันที่ได้มีการยกฐานะหรือการเปลี่ยนฐานะนั้น เป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญได้ด้วยในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการสามัญ เมื่อพ.ศ. 2480 โดยเจ้ากระทรวงเห็นสมควรบรรจุในชั้นนั้นเข้าอันดับเงินเดือนเท่าที่ได้รับอยู่โดยได้รับอนุมัติของ ก.พ.แล้ว ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 มาตรา 74จึงเห็นได้ว่า การยกฐานะหรือเปลี่ยนฐานะของโจทก์นั้น เป็นไปโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวงซึ่งเห็นสมควรบรรจุ หาใช่เป็นไปโดยกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ จึงไม่ชอบที่จะนับระยะเวลาระหว่างที่เป็นข้าราชการวิสามัญดังกล่าวนี้เป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ

พิพากษายืน

Share