คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่โจทก์มีไปถึงบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีข้อความว่า เนื่องด้วยกระผมจะขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของบริษัทและจากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทระบุว่าทางบริษัทจะทำการซื้อหุ้นในส่วนของกระผมคืน ซึ่งกระผมก็ไม่ขัดข้อง สำหรับราคาค่าหุ้นจะมีมูลค่าเท่าไร ทางคณะกรรมการบริหารบริษัทได้มอบหมาย ว.เป็นผู้ทำการตกลงกับกระผมในอันดับต่อไป กระผมขอแจ้งให้ท่านทราบว่ากำหนดการลาออกของกระผมในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปและในฐานะผู้ถือหุ้น คือวันที่กระผมได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของกระผมในราคาที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย ข้อความดังกล่าวให้ความหมายว่าโจทก์จะลาออกก็ต่อเมื่อโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของโจทก์ในราคาที่ตกลงกันแล้ว ถือได้ว่าเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้การลาออกซึ่งเป็นนิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันระหว่าง ว. กับโจทก์ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข และจะมีผลเป็นการลาออกจากงานก็ต่อเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวสำเร็จลงโดยโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขที่กำหนดให้นิติกรรมการลาออกจากการเป็นลูกจ้างมีผลนั้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานในฐานะลูกจ้างหรือไม่ ก็ได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกัน การลาออกของโจทก์จึงยังไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม2536 จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 แสดงเจตนาขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป กำหนดการลาออกในวันที่จำเลยได้รับเงินค่าหุ้นคืนและระหว่างนั้นโจทก์ขอลาพักร้อนโดยได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันที่1 มีนาคม 2536 จนถึงกำหนดการลาออกของโจทก์ จำเลยให้โจทก์ลาออกได้ตามประสงค์ แต่ให้โจทก์ออกเร็วขึ้นคือให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2536 พร้อมกับจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคม 2536 ให้แก่โจทก์ทั้งเดือน หนังสือขอลาออกของโจทก์มีเพียงเงื่อนเวลาจำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป เมื่อโจทก์ขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปเท่ากับขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยจึงไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หนังสือขอลาออกที่โจทก์มีไปถึงจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นหนังสือลาออกที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้รับชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งถึงโจทก์ว่า ให้ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ส่วนเงินค่าหุ้นนั้นกำลังพิจารณาตามเอกสาร ล.2จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ เมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำความผิดหรือมีความบกพร่องใด ๆ ทั้งไม่ปรากฎเหตุที่จำเลยจะอ้างได้ตามกฎหมายจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายให้โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์มีไปถึงจำเลยเป็นหนังสือลาออกที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลยปรากฎข้อความว่า “เนื่องด้วยกระผมนายณรงค์อัมพุช ตำแหน่ง “ผู้จัดการทั่วไป” บริษัทเบญทศ จำกัด จะขอลาออกจากตำแหน่ง “ผู้จัดการทั่วไป” ของบริษัท และจากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 ระบุว่าทางบริษัทจะทำการซื้อหุ้นในส่วนของกระผมคืน ซึ่งกระผมก็ไม่ขัดข้องสำหรับราคาค่าหุ้นจะมีมูลค่าเท่าไร ทางคณะกรรมการบริหารบริษัทได้มอบหมายคุณวิชิต จิรัฐิติเจริญ เป็นผู้ทำการตกลงกับกระผมในอันดับต่อไป กระผมขอแจ้งให้ท่านทราบว่า กำหนดการลาออกของกระผมในตำแหน่ง “กรรมการและผู้จัดการทั่วไป” และในฐานะผู้ถือหุ้นคือวันที่กระผมได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของกระผมในราคาที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย” ข้อความดังกล่าวให้ความหมายชัดแจ้งว่าโจทก์จะลาออกก็ต่อเมื่อโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของโจทก์ในราคาที่ตกลงกันแล้ว ถือได้ว่าเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้การลาออกซึ่งเป็นนิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันระหว่างนายวิชิตกับโจทก์ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความในเอกสารหมาย ล.1ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข และจะมีผลเป็นการลาออกจากงานก็ต่อเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวสำเร็จลงโดยโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกัน เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า เรื่องเงินค่าหุ้นเป็นคนละเรื่องกับการทำงานในฐานะลูกจ้างจำเลยนั้น เห็นว่า เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้นิติกรรมการลาออกมีผลนั้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานในฐานะลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าจักต้องเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการทำงานในฐานะลูกจ้างเท่านั้นเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยังมิได้รับชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกัน การลาออกของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 จึงยังไม่มีผลบังคับการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกจากงานตามเอกสารหมาย ล.2ย่อมเป็นการเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share