คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ธนาคารโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นการรับรองต่อผู้ขายสินค้าว่าผู้ขายสินค้าจะได้รับการชำระเงินอย่างแน่นอน ถ้าผู้ขายสินค้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1รับเอาไม้ไปขายก่อนก็เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ ไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับ จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ดังกล่าว
หากก่อนผิดนัดลูกหนี้ตกลงให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ย่อมถือว่ามีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราที่ตกลงกันก่อนผิดนัดนั้น ข้อตกลงต่อท้ายคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราใดอย่างแน่ชัด และแม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าได้เอง แต่ก็เป็นเพียงกรอบอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องนำไปตกลงกับลูกค้าแต่ละรายต่อไป โดยต้องไม่เกินอัตราตามที่ประกาศไว้เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์นั้นมาใช้บังคับผูกพันจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ขายสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว และโจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวนตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับรองตั๋วไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด ย่อมมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามอัตราดังกล่าวเช่นเดียวกัน
โจทก์คิดดอกเบี้ยของต้นเงินแล้วนำต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป มีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1เป็นลูกค้าของโจทก์ โดยทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ เพื่อสั่งซื้อสินค้าไม้ซุงสักจากประเทศสหภาพพม่า มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในวงเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมอบเงินฝากจำนวนเงิน 1,200,000 บาท เป็นประกันด้วย ต่อมาผู้ขายได้ส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ขายไปแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าสินค้ามาชำระคืนให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์นำเงินฝากของจำเลยที่ 2 มาหักชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,057,760.69 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 4,735,752.03 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในระยะเวลาสองปีนับแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ หรือนับแต่วันที่อาจบังคับเอาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 9,057,760.69 บาท และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 4,735,752.03 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าว่าจะได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่สั่งซื้อจากผู้ขายในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต ขณะเดียวกันก็เป็นการรับรองต่อผู้ขายสินค้าว่าผู้ขายสินค้าจะได้รับการชำระเงินอย่างแน่นอน ถ้าผู้ขายสินค้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าฟ้องไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และเมื่อผู้ขายสินค้าส่งสินค้ามาให้แล้ว โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปโดยการหักบัญชีตามภาพถ่ายตั๋วแลกเงินเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 เอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องอ่านดูแล้วเข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2536 และโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ขายสินค้าเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2536 จำนวน 186,156 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตกันเมื่อใด โจทก์ชำระค่าสินค้าจำนวนเท่าใดและเมื่อใด เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น จึงฟังไม่ขึ้น เพราะโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้ในคำฟ้องพอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาพร้อมคำขอบังคับครบถ้วนแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2536 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรือต่อไปในภายหน้า เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและยังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา การที่โจทก์ทำสัญญาทรัสต์รีซีทยอมให้จำเลยที่ 1 รับเอาไม้ไปขายก่อนก็เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ในภายหลัง ไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับ จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิง ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว คงเหลือหนี้ที่ต้องชำระเพียง 1,390,899.90 บาท เมื่อโจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 อีกนั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์จะต้องนำเงินฝากของจำเลยที่ 2 ไปชำระต้นเงินก่อนชำระดอกเบี้ยและจะคิดดอกเบี้ยหลังจำเลยที่ 1 ผิดนัดเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีไม่ได้นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ประกอบด้วยหนี้อันเป็นประธานคือต้นเงินและหนี้อุปกรณ์คือดอกเบี้ย ดังนั้นการชำระหนี้จึงต้องชำระดอกเบี้ยก่อน จากนั้นจึงให้ชำระหนี้อันเป็นประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 ที่โจทก์นำเงินฝากของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ดอกเบี้ยก่อนจึงชอบแล้ว ส่วนการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนั้น แม้หนี้ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นหนี้เงิน ซึ่งโดยปกติเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีก็ตาม แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายเจ้าหนี้ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ต่อไปตามนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ดังนี้หากก่อนผิดนัดลูกหนี้ตกลงให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้วเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ย่อมถือว่ามีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราที่ตกลงกันให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้ก่อนผิดนัดนั้น แม้จะสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็ตาม และเมื่อพิจารณาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจะคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็ตาม ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ได้จ่ายเงินแก่ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วและโจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงิน ลงวันที่ 2 กันยายน 2536 สั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวนเงิน 186,156 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ออกตั๋ว และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับรองตั๋วไว้ ตามเอกสารหมาย จ.3 และตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.4ระบุวันถึงกำหนดชำระวันที่ 22 กันยายน 2536 โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2536 ถึงครบกำหนดชำระหนี้วันที่ 22 กันยายน 2536 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดได้ในอัตราดังกล่าว ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด ย่อมมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามอัตราดังกล่าวเช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.4 ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยของต้นเงินค่าสินค้า 186,156 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินไทย 4,709,746.80 บาท ในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นเงินดอกเบี้ย23,548.73 บาท แล้วนำต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวกับค่าใช้จ่ายธนาคารต่างประเทศค่าไปรษณียากรและค่าอากรแสตมป์ มารวมกันคิดเป็นเงิน 4,735,752.03 บาท แล้วนำมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไปตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จึงมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 4,735,752.03 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปีของต้นเงิน 4,712,203.33 บาท นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2536 เป็นต้นไป และให้นำเงินที่มีการชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 5สิงหาคม 2537 จำนวน 100,000 บาท วันที่ 19 กันยายน 2538 จำนวน 1,390,000บาท และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 899.90 บาทตามลำดับ มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยที่คิดถึงวันก่อนวันชำระหนี้ครั้งแรก หากมีเงินเหลือเท่าใดจึงหักชำระต้นเงินที่ค้างชำระ เหลือต้นเงินค้างชำระเท่าใดให้คิดดอกเบี้ยของต้นเงินค้างชำระคงเหลือนั้นนับแต่วันชำระหนี้นั้นต่อไปจนถึงวันก่อนวันชำระหนี้ครั้งต่อไป และให้คิดหักชำระหนี้เช่นนี้ทุกครั้งตามลำดับ เมื่อหักชำระหนี้ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 แล้วคงเหลือต้นเงินค้างชำระเท่าใดให้จำเลยที่ 2 ชำระต้นเงินค้างชำระดังกล่าว กับดอกเบี้ยที่ค้างชำระถ้ามี และดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปีของต้นเงินค้างชำระนั้น นับแต่วันที่ 21กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share