คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวเคยฟ้องจำเลยขอให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แล้วโจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2จึงมาฟ้องจำเลยขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้อีกคดีโจทก์ที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้ำแต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีก่อน โจทก์ที่ 1เคยขอบังคับคดีโดยขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยถูกจับตามหมายจับได้ขอประกันตัวต่อศาลและหลบหนีไปจนพ้นกำหนดการบังคับคดี แสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลยจำเลยไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องฟ้องซ้ำไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ย.ทายาทผู้รับมรดกของห.ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ศาลพิพากษาตามยอมดังกล่าวข้างต้น แต่ย.และโจทก์ที่ 2(ผู้จัดการมรดกนายห.) มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 2 ฟ้องโจทก์ที่ 2 คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 267 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร เนื้อที่จำนวน 36 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา คนละส่วนเท่า ๆ กัน จำนวนคนละ 12 ไร่ 75 ตารางวา โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยไปลงชื่อยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 267 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ร่วมกับโจทก์ทั้งสอง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 267 แขวงแสนแสบเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร มามอบไว้ที่ศาลเพื่อส่งมอบให้โจทก์หากจำเลยไม่นำโฉนดที่ดินดังกล่าวมาศาลเพื่อมอบให้โจทก์ขอให้ศาลมีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรีออกใบแทนโฉนดฉบับใหม่แทนฉบับที่อยู่กับจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินดังกล่าวยังไม่เคยมีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน การแบ่งแยกที่ดินจะต้องให้ที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกไปติดถนนสาธารณะด้วย จึงจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยจะต้องแบ่งแยกทางด้านทิศเหนือไปทางด้านทิศใต้ จำเลยจึงขอฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสองให้ทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น3 ส่วนเท่า ๆ กัน ตามแผนผังท้ายคำให้การ หากโจทก์ทั้งสองไม่ยอมไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมกันออกค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน สำหรับใครจะได้ส่วนไหนนั้นโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันเอง หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ใช้วิธีจับฉลาก
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยซื้อมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมนั้นได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วจำเลยทราบดีว่าส่วนของตนอยู่ตรงไหน สำหรับถนนสาธารณะที่ตัดผ่านที่ดินพิพาทได้มาตัดผ่านหลังจากที่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 267 ตามส่วนสัดที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยครอบครองตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายจ.2 คนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้จำเลยทำถนนทางด้านทิศตะวันออกของที่พิพาททั้งนี้ให้มีความกว้าง 5 วา โดยให้ออกค่าใช้จ่ายร่วมกันให้จำเลยไปลงชื่อยื่นคำขอเพื่อรังวัดแบ่งแยกที่พิพาทที่สำนักงานที่ดินภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 นายหะยีดาเวส และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.1นายหะยีดาเวสได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้นายเย็บและแต่งตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามภาพสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.3 ต่อมานายหะยีดาเวสถึงแก่กรรมและโจทก์ที่ 1 ได้ฟ้องจำเลยขอให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9281/2521 ของศาลแพ่ง และในคดีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลยอมแบ่งแยกที่ดินพิพาทกันตามส่วนสัดที่โจทก์ที่ 1 นายหะยีดาเวสและจำเลยครอบครองตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2 (เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3)โดยโจทก์ที่ 1 ยอมให้จำเลยทำถนนกว้าง 5 วา ทางทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทจากทางสาธารณะผ่านที่ดินที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ไปยังที่ดินจำเลยและตกลงจะไปจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมในวันยื่นขอแบ่งแยกโฉนดโดยทั้งสองฝ่ายจะไปยื่นขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดภายใน 60 วัน นับแต่วันทำยอมซึ่งศาลแพ่งได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้วตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 คดีสำหรับโจทก์ที่ 1ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามนั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้จำเลยไปลงชื่อยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้แบ่งแยกครอบครองกันเป็นส่วนสัดตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (จ.2) ซึ่งศาลแพ่งได้วินิจฉัยโดยพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว โดยให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งโฉนดตามส่วนที่ตกลงแบ่งกันแล้ว อันเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน มิใช่เป็นประเด็นหรือข้อโต้แย้งคนละเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังแต่อย่างใด คดีโจทก์ที่ 1จึงเป็นฟ้องซ้ำ แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดี โจทก์ที่ 1 เคยขอบังคับคดีที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมตามเอกสารหมาย ล.1 ล.2 โดยขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยให้ส่งโฉนดที่ดินเพื่อทำการแบ่งแยก จำเลยถูกจับตามหมายจับแต่ได้ขอประกันตัวต่อศาล และหลบหนีไปจนพ้นกำหนดการบังคับคดีแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลยทั้งจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246และ 247 ส่วนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 แม้จะปรากฏว่านายเย็บ ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายหะยีดาเวสได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ศาลได้พิพากษาตามยอมด้วยก็ตาม แต่นายเย็บและโจทก์ที่ 2 ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย คำพิพากษาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนสัดที่ครอบครองคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยกันที่ดินไว้เป็นถนนทางทิศตะวันออกกว้าง 4 เมตร ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share