คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2655/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ทำกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาสิทธิอาศัยห้องชุดพิพาท แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ทำสัญญาดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิของคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยให้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทได้ ต้องเลี่ยงมาทำสัญญาสิทธิอาศัย และการที่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำพาที่จะดำเนินการจดทะเบียนโดยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเกือบ 10 ปีก็ไม่ได้ทำให้สัญญาสิทธิอาศัยเสียไป เมื่อสิทธิอาศัยดังกล่าวมีอยู่ก่อนหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. ครบถ้วนตามที่จำเลยทั้งสามได้ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ชอบที่จะขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิอาศัยห้องชุดพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะทราบว่าโจทก์ได้ยึดทรัพย์สินของ จำเลยที่ 1 รวมทั้งห้องชุดพิพาทก่อนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็เป็นการใช้สิทธิโดยชอบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่จำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันกระทำการโดยไม่สุจริต โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงไม่มี อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3362/2536 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3362/2536ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาสิทธิอาศัยห้องชุดพิพาทตามสำเนาเอกสารหมาย ล.1แม้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาสิทธิอาศัยดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิของคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยให้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทได้จึงต้องเลี่ยงมาทำสัญญาสิทธิอาศัยดังกล่าวและจำเลยทั้งสามไม่ได้นำพาที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิอาศัยห้องชุดพิพาทโดยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเกือบ 10 ปี ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้สัญญาสิทธิอาศัยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียไปจนไม่สามารถใช้บังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ สิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในห้องชุดพิพาทตามสัญญาสิทธิอาศัยดังกล่าวมีอยู่ก่อนหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระโจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจจำกัด ครบถ้วนตามที่จำเลยทั้งสามได้ตกลงกันไว้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ชอบที่จะขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิอาศัยห้องชุดพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้และแม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะทราบว่าโจทก์ได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 รวมทั้งห้องชุดพิพาทก่อนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะฟ้องจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็เป็นการใช้สิทธิโดยชอบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันกระทำการโดยไม่สุจริตโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาสิทธิอาศัยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.1 เป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายห้องชุดพิพาทเป็นการแสดงเจตนาลวง เพราะจำเลยทั้งสามไม่ต้องการผูกพันตามสัญญาสิทธิอาศัยดังกล่าว สัญญาสิทธิอาศัยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.1 จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share