แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวเป็น 2 คดี คดีแรกฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรโค จำเลยรับสารภาพฐานรับของโจร ศาลลงโทษไปแล้วคดีหลังฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรกระบือ โดยโจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่ามีผู้พบเห็นจำเลยครอบครองโคกระบือของกลางทั้งสองคดีอยู่ในขณะเดียวกัน และแถลงรับว่าฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่มีผู้พบเห็นจำเลยครอบครองของกลางดังกล่าว จำเลยรับสารภาพฐานรับของโจรอีก กับแถลงรับตามที่ศาลสอบถามว่าจำเลยกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับคดีก่อนเช่นนี้ แม้โจทก์ไม่สืบพยาน ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรในคดีหลังได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำและการที่ศาลถามจำเลยดังกล่าวก็เป็นการสอบถามในรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 235 วรรค 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักหรือรับของโจรกระบือ ๑ ตัว และบรรยายข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่า หลังจากกระบือเจ้าทรัพย์หายไปมีผู้พบเห็นจำเลยกับพวกอีก ๒ คนร่วมกันครอบครองกระบือถูกลักไป ขอให้ลงโทษเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕,๓๕๗,๘๓,๙๒ และนับโทษต่อจากคดีอาญาดำที่ ๒๙๗/๒๕๐๕
ชั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับในข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษ ต่อมาจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และรับว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญดำที่ ๒๙๗/๒๕๐๕ (ฐานรับของโจร.โค) แล้ว คือคดีแดงที่ ๓๓๑/๒๕๐๕
ศาลชั้นต้นเรียกสำนวนคดีแดงที่ ๓๓๑/๒๕๐๕ มาดู และสอบโจทก์ โจทก์แถลงว่า กระบือ(ของกลางคดีนี้) กับโค(ของกลางในคดีแดงที่ ๓๓๑/๒๕๐๕) มีผู้พบเห็นคนร้ายรวมทั้งจำเลยจูงไปในขณะเดียวกัน และว่าโจทก์อาศัยเหตุนี้ฟ้องจำเลยว่าลักทรัพย์ รับของโจร กับโจทก์ขอให้ศาลสอบจำเลย จำลยแถลงว่า ได้รับกระบือและโคของกลางของแต่ละคดีไว้ที่ที่ ช คนละวันกัน โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนฐานรับของโจรกระบือนั้น โจทก์ไม่สืบว่าจำเลยรับกระบือของกลางคดีนี้กับโคของกลางคดีแดงที่ ๓๓๑/๒๕๐๕ ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงต้องฟังว่าจำเลยรับไว้ในเวลาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวกัน ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีแดงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยอีก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) ส่วนที่จำเลยแถลงรับไว้ จะเอามาลงโทษจำเลยก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่โจทก์ต้องพิสูจน์ความผิดจำเลย ทั้งคำรับเช่นนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๓๕ วรรค ๒ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ถูกต้องตามกฎหมาย และฟ้องแต่ละสำนวนกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อศาลสอบจำเลย ๆ ก็รับว่ากระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งไม่ปรากฎเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยครอบครองของกลางทั้ง ๒ คดี ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรกรรมเดียวและวาระเดียวกัน เพราะความผิดฐานรับของโจรเกิดเป็นความผิดขณะจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นของได้มาจากการกระทำผิด ไม่ใช่ขณะครอบครองทรัพย์ และการที่โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้พบจำเลยครอบครองของกลางนั้น ก็ไม่ใช่ข้อผูกพันโจทก์ให้นำสืบได้เฉพาะข้อเท็จจริงนั้น หรือถ้าไม่ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะต้องยกฟ้อง โจทก์ย่อมนำสืบข้อเท็จจริงต่าง ๆ อันจะพึงพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ได้ ถ้าจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริง คดีย่อมรับฟังลงโทษจำเลยได้ เว้นแต่คดีมีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป หรือสถานหนักกว่านั้น ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยเหตุดังกล่าว จึงไม่เป็นเหตุที่จะยกฟ้อง และการที่ศาลสอบถามจำเลยว่ารับกระบือและโคของ ๒ คดีไว้คนละครั้งหรือครั้งเดียวกัน ก็ไม่ใช่เพื่อประโยชน์จะเพื่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๓๕ วรรค ๒ เพราะฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งเป็นการสอบถามรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงยิ่งขึ้น เมื่อจำเลยรับสารภาพต่อศาล ก็รับฟังลงโทษจำเลยได้ พิพากษากลับว่าจำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๕๗ วางโทษจำคุก ๑ ปีเพิ่ม ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๙๒ จำคุก ๑ ปี ๘ เดือน ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๘ เดือน นับโทษต่อจากคดีแดงที่ ๓๓๑/๒๕๐๕