แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบการงานของจำเลยจะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในการกระทำที่จัดการงานให้จำเลยได้หรือไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 44 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน นั้น หมายความเฉพาะการตั้งตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้นส่วนการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี แม้จะถือว่าเป็นการตั้งตัวแทน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นอำนาจทั่วไปที่บุคคลมีอยู่ตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายในจำนวนหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้ที่มีอยู่นั้นได้ บทบัญญัติมาตรา175(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นเรื่องความรับผิดทางอาญาของตัวแทนในกิจการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้ จำเลยจะนำมากล่าวอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดดังกล่าวหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยให้การว่า หนี้ตามฟ้องไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาข้อที่ 1 ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะหรือไม่ และฎีกาข้อที่ 2 ว่า โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบการงานของจำเลยจะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในการกระทำที่จัดการงานให้จำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวทั้งสองข้อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยมีอำนาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ปัญหาข้อที่ 1 เรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 44วรรคแรก บัญญัติว่า “การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน” เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับเพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นพิเศษ การตั้งตัวแทนหรือนายหน้าตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมหมายความถึงเฉพาะการตั้งตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้น ที่จะต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ส่วนการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแม้จะถือว่าเป็นการตั้งตัวแทน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นอำนาจทั่วไปที่บุคคลมีอยู่ตามกฎหมาย การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นโมฆะ
ปัญหาข้อที่ 2 โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้หรือไม่จำเลยอ้างว่า โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยซึ่งต้องรับผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 175(4)จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายมิได้ ข้อนี้เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 175(4) ที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นเป็นความรับผิดทางอาญาของตัวแทนในกิจการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้ ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายในจำนวนหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้สินที่มีอยู่นั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน