แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาค่าใช้เครื่องจักร เครื่องมือกล และค่าควบคุม คือค่าใช้จ่ายบริหารส่วนกลางของโจทก์ เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีแน่นอน และโจทก์ได้ใช้ไปในการซ่อมรถโบกี้ของโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการกระทำละเมิดโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ได้ เมื่อศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายลดลง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้ฎีกาศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วย มาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกข้าวสารเต็มคันในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปตามถนนจากตลาดหัวดง มุ่งหน้าจะไปทางอำเภอตะพานหิน โดยมิได้ปฏิบัติตามเครื่องหมายบังคับจราจร และด้วยความประมาทมิได้หยุดก่อนถึงทางรถไฟ แต่กลับขับรถยนต์ขึ้นมาบนทางรถไฟที่ตัดผ่านถนนกิโลเมตรที่ 333/3-4 ระหว่างสถานีรถไฟหัวดงกับสถานีรถไฟวังกรด อันเป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศแล่นระหว่าง พิษณุโลก – กรุงเทพขบวนที่ 901 กำลังจะแล่นผ่าน สุดความสามารถที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะหยุดรถไฟได้ทัน จึงชนกับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวทำให้รถโบกี้ดีเซลราง (บกซ.) 1122 หน้ายุบ กระจกหน้ากับมาร์คเกอร์ไลท์ด้านซ้ายแตก เบรกวาล์วชำรุดห้ามล้อไม่ได้ เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น273,055.34 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 273,055.34บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนขับรถไฟของโจทก์ที่ขับรถไฟด้วยความเร็วสูงผ่านทางเดินรถยนต์โดยมิได้ชะลอความเร็ว และดูว่าในขณะนั้นมีรถยนต์กำลังจะแล่นผ่านหรือไม่ ทำให้ชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับขณะกำลังผ่านทางรถไฟด้วยความเร็วต่ำ ทั้งไม่มีเครื่องหมายจราจรให้หยุด และไม่มีเครื่องขวางกั้นขณะรถไฟกำลังผ่าน ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน7,000 บาท ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุม
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถไฟโจทก์ฝ่ายเดียว รถไฟของโจทก์สามารถซ่อมได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทตามกรมธรรม์จำเลยที่ 4 จะรับผิดในความเสียหายของบุคคลภายนอกไม่เกิน 250,000 บาท ส่วนค่าเสียหาย 1,000 บาท แรก ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน218,031.34 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงว่าเหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้าง จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ส่วนค่าเสียหายตามฟ้องข้อ 3.6 ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน และข้อ 3.7 ค่าควบคุม เป็นค่าเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากมูลละเมิดและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้เพียงใด โจทก์มีนายไพฑูรย์ ศรีวรวิทย์ หัวหน้าแผนกบัญชี โรงงานมักกะสันเบิกความว่าค่าใช้จ่ายทั่วไปเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งซึ่งผู้ซ่อมยังไม่ได้คิดไว้ เป็นต้นว่าค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาค่าใช้เครื่องจักร เครื่องมือกล และอื่น ๆ คิดคำนวณในอัตราร้อยละ105.5 ของค่าแรงงาน ส่วนค่าควบคุมนั้น เป็นเงินชดใช้ค่าใช้จ่ายบริหารส่วนกลางของโจทก์ในกรณีมีการละเมิดซึ่งจะต้องมีการดำเนินการและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทางด้านส่วนกลางและด้านบริหาร คิดคำนวณในอัตราร้อยละ 25 ของราคาทุน ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีแน่นอนและโจทก์ได้ใช้ไปในการซ่อมรถโบกี้ของโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ได้ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ คือค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท เนื่องจากมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน198,031.34 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์