คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยกำลังจะปิดบริษัทเนื่องจากขาดทุนอย่างมหาศาล ต้องลดกำลังคน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้ว จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ลาออก ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานมิได้นำใบลาออกและหนังสือปลดเปลื้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์มาพิจารณาว่าโจทก์ลาออก อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นรายเดือนจึงจ่ายค่าจ้างต่าง ๆ ให้ครบในแต่ละเดือนแล้ว เอกสารที่โจทก์อ้างโดยขอหมายเรียกจากจำเลย ในนัดแรก ๆ จำเลยยังจัดหาให้ไม่ได้ ภายหลังโจทก์แถลงไม่ติดใจอ้างเอกสารเหล่านั้น ทั้งที่จำเลยเตรียมมาให้แล้ว ศาลแรงงานก็ไม่รับเอกสารเข้าสำนวนทั้งที่มีอำนาจ จำเลยไม่ได้แถลงคัดค้านไว้ก็เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ติดใจขอเอกสารนั้น ไม่ใช่เรื่องของจำเลยและไม่ทราบว่าการไม่นำส่งเอกสารจะกลับกลายเป็นโทษต่อจำเลย ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้โจทก์ได้ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจึงคลาดเคลื่อนนั้น ศาลแรงงานฟังว่า โจทก์ทำงานทุกวันและทำงานล่วงเวลาทุกวันแม้ในวันหยุด แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราปกติมิได้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยฟังจากคำเบิกความของโจทก์ประกอบใบสำคัญการจ่ายค่าจ้าง และตารางคำนวณค่าจ้าง อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีกำไรประมาณ 5,000,000 บาท แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยขาดทุนซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างที่ค้าง 76,502.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหาย 267,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานทุกวันและทำงานล่วงเวลาทุกวันแม้ในวันหยุด แต่จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราปกติมิได้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิเสธความถูกต้องของตารางคำนวณค่าจ้างจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่โจทก์ขอมาเพียง 76,052.50 บาท จึงกำหนดให้ตามขอ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองขาดทุนมหาศาลนั้น ปรากฏตามรายงานการเงินว่า จำเลยทั้งสองกำไรน้อยลงเท่านั้น โดยปี 2540 ได้กำไรสุทธิ 12,000,000 บาทเศษ ปี2541 ได้กำไรสุทธิ 5,000,000 บาทเศษ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดทุนจนต้องเลิกจ้างพนักงาน จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 27,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 76,052.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2541 และค่าเสียหาย 27,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (17 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่หนึ่งว่า ศาลแรงงานกลางมิได้นำใบลาออกและหนังสือปลดเปลื้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์มาพิจารณาว่าโจทก์ลาออกนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองกำลังจะปิดบริษัทเนื่องจากขาดทุนอย่างมหาศาล ต้องลดกำลังคน จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ลาออก อุทธรณ์จำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่สองว่า จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นรายเดือน จึงจ่ายค่าจ้างต่างๆ ให้ครบในแต่ละเดือนแล้ว เอกสารที่โจทก์อ้างโดยขอหมายเรียกจากจำเลยทั้งสอง ในนัดแรกๆ จำเลยทั้งสองยังจัดหาให้ไม่ได้ ภายหลังโจทก์แถลงไม่ติดใจอ้างเอกสารเหล่านั้น ทั้งที่จำเลยทั้งสองเตรียมมาให้แล้ว ศาลแรงงานกลางก็ไม่รับเอกสารเข้าสำนวนทั้งที่มีอำนาจ จำเลยทั้งสองไม่ได้แถลงคัดค้านไว้ก็เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ติดใจขอเอกสารนั้น ไม่ใช่เรื่องของจำเลยทั้งสอง และไม่ทราบว่าการไม่นำส่งเอกสารจะกลับกลายเป็นโทษต่อจำเลยทั้งสอง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้โจทก์ได้ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจึงน่าจะคลาดเคลื่อนนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่า โจทก์ทำงานทุกวันและทำงานล่วงเวลาทุกวันแม้ในวันหยุด แต่จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราปกติมิได้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยฟังจากคำเบิกความของโจทก์ประกอบใบสำคัญการจ่ายค่าจ้างและตารางคำนวณค่าจ้าง อุทธรณ์จำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า เมื่อจำเลยทั้งสองมีกำไรเพียงประมาณ 5,000,000 บาท จากขนาดและขอบข่ายงานของบริษัทจำเลยทั้งสองน่าจะต้องมีกำไรมากกว่านี้ เปรียบเทียบกับปีก่อนๆ หน้านั้นในสภาพเศรษฐกิจปกติแล้วก็เปรียบได้รับการขาดทุนนั่นเอง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีกำไรประมาณ 5,000,000 บาทแล้ว จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองขาดทุนซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share