คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าราชการซึ่งต้องย้ายตามไปทำงานในท้องที่อื่น เพราะสำนักงานเดิมย้ายที่ทำการมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521 จำเลยเดิมรับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดลและโอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารทบวงมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จำเลยได้ขอเบิกค่าเช่าบ้านจากโจทก์เป็นเงินรวม 32,330 บาท และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวไปแล้วซึ่งการได้รับเงินดังกล่าวไปนั้น จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับเนื่องจากจำเลยเริ่มรับราชการครั้งแรกที่หน่วยงานอื่นในเขตอำเภอชั้นนอกหรือเขตอำเภอชั้นในของกรุงเทพมหานคร การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีไม่ถือเป็นการย้ายที่ปฏิบัติงานของข้าราชการ แต่เป็นการย้ายที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โจทก์แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าเช่าบ้านที่รับไปคืน แต่จำเลยไม่คืน ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าเช่าบ้านที่เบิกไปโดยไม่มีสิทธิจำนวน 32,330 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับเงินค่าเช่าบ้านจำนวน 32,330 บาทไปจากโจทก์จริง แต่จำเลยไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ เพราะจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาว่า จำเลยซึ่งรับราชการครั้งแรกที่หน่วยงานอื่นในเขตอำเภอชั้นนอกหรือในเขตอำเภอชั้นในของกรุงเทพมหานคร และได้โอนไปรับราชการที่มหาวิทยาลัยโจทก์ขณะที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้เมื่อมหาวิทยาลัยโจทก์ย้ายที่ทำการไปอยู่จังหวัดนนทบุรี ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 นั้น ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 16และมาตรา 17 ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพบ้าน เว้นแต่ผู้นั้น
(1) ทางราชการได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว
(2) มีเคหสถานของตนเอง หรือของสามีหรือภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่
(3) ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก หรือท้องที่กลับเข้ารับราชการใหม่
(4) เป็นข้าราชการวิสามัญ” เมื่อพิจารณาข้อบัญญัติของมาตรา 7ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วเห็นได้ว่าทางราชการประสงค์จะช่วยเหลือข้าราชการที่ต้องเสียค่าเช่าบ้านเมื่อต้องไปทำงานในท้องที่อื่น ซึ่งมิใช่ท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรก จำเลยรับราชการครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร แล้วโอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในกรุงเทพมหานครเช่นกัน แต่ต่อมามหาวิทยาลัยโจทก์ได้ย้ายที่ทำการใหม่ไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยได้ไปรับราชการตามที่ทำการในต่างท้องที่จากที่รับราชการ ณ ที่เดิมแม้จะไม่มีคำสั่งให้จำเลยเดินทางไปประจำในที่ทำการต่างท้องที่แต่เป็นเพราะเหตุมหาวิทยาลัยโจทก์ย้ายที่ทำการใหม่ก็ตาม เพราะที่ทำการใหม่ของมหาวิทยาลัยโจทก์ไม่ใช่ท้องที่ที่จำเลยเข้ารับราชการครั้งแรก ทั้งการตีความตามมาตรา 7 ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ให้ขัดแย้งต่อเหตุผลและความเป็นจริง เพราะมิฉะนั้นข้าราชการที่รับราชการครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร หากโอนไปรับราชการที่มหาวิทยาลัยโจทก์ก่อนโจทก์ย้ายที่ทำการในเดือนธันวาคม 2527ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน แต่ถ้าโอนไปภายหลังกลับเบิกค่าเช่าบ้านได้ และข้าราชการซึ่งไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ดังกล่าวนั้นหากได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำที่ทำการหรือโอนไปรับราชการในหน่วยงานอื่นนอกเขตจังหวัดนนทบุรี แล้วต่อมาย้ายกลับไปประจำหรือโอนกลับไปรับราชการในมหาวิทยาลัยโจทก์ กลับมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ข้าราชการทั้งปวง มิใช่แต่จำเลยเพียงผู้เดียว
พิพากษายืน

Share