คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อทำนา ต่อมาจำเลยที่ 1ได้แจ้งเป็นหนังสือต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทในราคา160,000 บาท ถ้าโจทก์จะซื้อให้ตอบภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะขายให้บุคคลอื่น โจทก์ไม่ได้ติดต่อขอซื้อจากจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจดทะเบียนการขายต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้วพระราชบัญญัติ ญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มิได้ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบลที่จะยับยั้งผู้ให้เช่านาไม่ให้ขายที่นาที่ให้เช่าได้ แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีมติยับยั้งไม่ให้ผู้ให้เช่าขายที่ดิน ผู้ให้เช่าก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นผู้เช่านาจากจำเลยที่ 1 ต่อมา จำเลยที่ 1จะขายนาพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์คัดค้านการขายนาแล้ว คณะกรรมการควบคุมการเช่านาอำเภอบางคล้ามีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องคดีภายใน 30 วันในระหว่างนั้น จำเลยที่ 1 กลับขายนาให้จำเลยที่ 2 ไป ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ขายนาให้แก่โจทก์ในราคา 64,300 บาท จำเลยทั้งสองให้การว่าก่อนขายนาพิพาทได้เสนอขายให้แก่โจทก์ในราคา 160,000 บาทแล้ว แต่โจทก์มิได้แสดงความจำนงจะซื้อภายในกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เคยบอกขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 60,000 บาทนั้น คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ เพียงลำพัง ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนและที่โจทก์นำสืบต่อไปว่า เมื่อโจทก์ไปคัดค้านเนื่องจากจำเลยทั้งสองไปขอทำนิติกรรมและจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินในวันที่ 15 มิถุนายน 2521 จำเลยทั้งสองแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจะซื้อขายกันในราคา 64,300 บาท นั้น นอกจากจะมีตัวโจทก์และนายเจือ เพ็ชรอินทร์ ซึ่งรับฟังมาจากโจทก์อีกทอดหนึ่งเบิกความกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ แล้ว ยังปรากฏว่านายอุดร บุญศรีโรจน์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราสาขาบางคล้า พยานจำเลยซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ หาได้รับรองข้อความดังที่โจทก์นำสืบไม่ พยานดังกล่าวคงเบิกความแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองเคยมาติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า แต่เมื่อโจทก์ไปค้านว่าเป็นผู้เช่าทำนาในที่ดินพิพาทอยู่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทก่อนพยานจึงให้โจทก์และจำเลยทั้งสองไปตกลงกันที่ที่ว่าการอำเภอก่อนเท่านั้น ส่วนฝ่ายจำเลยนอกจากจะมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันว่าได้ซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคา 160,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3หรือ จ.5 และมีนายอุดรเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพิพาท เบิกความรับรองแล้ว คดียังได้ความว่า จำเลยที่ 1รับซื้อฝากที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ในราคา 88,800 บาทตามเอกสาร ล.1 เมื่อเวลาล่วงมาถึง 10 ปี ราคาที่ดินพิพาทย่อมจะต้องสูงขึ้นเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะกลับมาขายที่ดินพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าราคาซึ่งจำเลยที่ 1 รับซื้อฝากไว้พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้แกล้งบอกขายที่ดินพิพาทในราคาสูงแก่โจทก์ หากแต่ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา160,000 บาทจริง
คงเหลือปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ในการขายที่ดินพิพาทนั้นจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่21 กรกฎาคม 2521 แจ้งว่า จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทในราคา160,000 บาท ถ้าโจทก์จะซื้อให้ตอบภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะขายให้บุคคลอื่น แต่โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด และคดีได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยอีกว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ให้นายอำเภอบางคล้าทราบตามเอกสารหมาย ล.6 แล้ว ดังนั้นเมื่อต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2521ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท และจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบลเสม็ดใต้ได้ประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2521 มีมติให้ยับยั้งการซื้อขายที่ดินพิพาทไว้1 เดือน เพื่อให้โจทก์ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ต่อมาเพียง 5 วันคือวันที่ 26 กันยายน 2521 จำเลยทั้งสองก็ทำสัญญาโอนขายที่ดินพิพาทกัน เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 หาได้มีข้อความระบุให้คณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบลมีอำนาจยับยั้งผู้ให้เช่านาไม่ให้ขายที่นาที่ให้เช่าไม่ แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีมติยับยั้งไม่ให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share