คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อบอกให้ผู้เสียหายเบาวิทยุที่เปิดเสียงดังหรือการที่จำเลยเข้าไปหานาง ก. นั้น ถือว่ามีเหตุอันสมควร การเข้าไปของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้านแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีก การที่จำเลยยังคงอยู่และใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดและกระทำในเวลากลางคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธติดตัวบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของนายปราโมทย์ ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย และจำเลยมีเจตนาฆ่าใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง แต่การระทำไม่บรรลุผลเพียงแต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี ฐานบุกรุก จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 13 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 คงให้จำคุกจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น 12 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายพักอาศัยรวมอยู่กับนางสมคิด มารดา นางกรรณิการ์ พี่สาว และพี่น้องรวมทั้งหมด 7 คน วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา หลังจากที่ผู้เสียหายกับพวกอีก 2 คน ช่วยกันทาสีบ้านเสร็จได้จัดเตรียมอาหารและสุราเพื่อดื่มและรับประทานกันได้เปิดเครื่องเสียงฟังเพลง จำเลยซึ่งเป็นญาติห่างๆ กับผู้เสียหายได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาจอดอยู่บริเวณหน้าบ้าน แล้วเดินลงจากรถจักรยานยนต์เข้าไปในบ้านผู้เสียหายเข้าไปพูดกับผู้เสียหาย ต่อมาได้เกิดการด่าทอและทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แล้วจำเลยใช้อาวุธมีดที่พกติดตัวมาแทงผู้เสียหายถูกที่นิ้วมือข้างซ้าย 2 แผล และที่หน้าท้องข้างขวายาวประมาณ 2 เซนติเมตร บาดแผลลึกประมาณ 8 เซนติเมตร คมมีดถูกตับฉีกขาดเลือดออก แพทย์ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเย็บซ่อมตับและห้ามเลือด ระหว่างเกิดเหตุนางสมคิดได้เข้าห้ามจำเลยจึงขึ้นรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายหลบหนีไป
เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเหคสถานของผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า สภาพบ้านของผู้เสียหายเป็นบ้านเดี่ยวปลูกอยู่ในที่ดินซึ่งมีบริเวณหน้าบ้าน การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยเข้าไปบอกผู้เสียหายให้เบาวิทยุที่เปิดเสียงดัง หรือตามทางนำสืบของจำเลยว่าเข้าไปหานางกรรณิการ์ การเข้าไปของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงไปโดยมีเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยออกจากบ้านแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีก การที่จำเลยยังคงอยู่และใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธมีดและกระทำในเวลากลางคืน แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อน กลับได้ความว่าเป็นญาติกัน หากจำเลยไม่ด่าผู้เสียหายดังที่ผู้เสียหายเบิกความ ก็ไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายจะไปทำร้ายจำเลย ดังนั้น ที่ผู้เสียหายและนางสมคิดเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นด่าผู้เสียหายก่อน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การที่จำเลยด่าผู้เสียหายก่อนทำให้ผู้เสียหายโกรธแล้วเข้าผลักจำเลย จึงเป็นเหตุให้มีการชกต่อยกันและจำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เริ่มต้นในการทำร้ายก่อนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายทำร้ายนายสามารถนั้น หากเป็นจริงนายสามารถย่อมจะต้องร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้เสียหายแล้ว แต่นายสามารถหาได้กระทำไม่ และที่จำเลยฎีกาว่าใช้อาวุธมีดแทงใส่ผู้เสียหายโดยสะเปะสะปะนั้น ขัดกับคำเบิกความของจำเลยเองที่ว่าจำเลยไม่พอใจที่ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยและยังไปชกต่อยนายสามารถอีก จึงชักมีดออกมาแทงสวนไปขณะที่ผู้เสียหายวิ่งสวนเข้ามาทางประตูหน้าบ้าน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดแล้วหาได้สำนึกในการกระทำกลับต่อสู้คดีมาตลอด ทั้งมิได้บรรเทาความเสียหายแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษมาในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธณณ์ภาค 9

Share