คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับของเจ้าพนักงานตำรวจในซอยซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ร้อยตำรวจเอก จ. กับพวกซึ่งซุ่มดูการล่อซื้อจับกุมจำเลยในเวลาต่อเนื่องกับเวลาที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ โดยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด และธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจำนวน 1,200 บาท ที่ค้นได้จากกระเป๋ากางเกงของจำเลยเป็นหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของจำเลย ในชั้นจับกุมร้อยตำรวจเอก จ. ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ การจับกุมดังกล่าวจึงเป็นการจับกุมโดยชอบ แม้พันตำรวจโท อ. ได้มาลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยตนเองไม่ได้ร่วมจับกุมจำเลยด้วย ก็เป็นเพียงการกระทำโดยไม่ชอบของพันตำรวจโท อ. เท่านั้น หามีผลทำให้การจับกุมจำเลยที่กระทำโดยร้อยตำรวจเอก จ. กับพวกซึ่งทำโดยชอบกลับกลายเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 , 7 , 8 , 15 , 66 , 102 ป.อ. มาตรา 91 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตร 1,200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตร 1,200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า พันตำรวจโทเอกสฤษดิ์ไม่ได้ไปร่วมจับกุมจำเลยแต่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ร่วมจับกุมด้วย การจับกุมจึงไม่ชอบ แต่ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกจักรกริชกับพวกซุ่มดูการล่อซื้อ อยู่ในซอยโชคชัยร่วมมิตร แยก 16 ซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน และจับกุมจำเลยในเวลาต่อเนื่องกับเวลาที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ โดยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด และธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจำนวน 1,200 บาท ที่ค้นได้จากกระเป๋ากางเกงของจำเลยเป็นหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของจำเลย ในชั้นจับกุมร้อยตำรวจเอกจักรกริชแจ้งข้อหาแก่จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ และยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมไว้เป็นหลักฐาน การจับกุมดังกล่าวจึงเป็นการจับกุมโดยชอบ แม้พันตำรวจโทเอกสฤษดิ์ได้มาลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยตนเองไม่ได้ร่วมจับกุมจำเลยด้วย ก็เป็นเพียงการกระทำโดยไม่ชอบของพันตำรวจโทเอกสฤษดิ์เท่านั้น หามีผลทำให้การจับกุมจำเลยที่กระทำโดยร้อยตำรวจเอกจักรกริชกับพวก ซึ่งทำโดยชอบกลับกลายเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน.

Share