คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารประชาสัมพันธ์เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าว ไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้อการอบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่จำต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ทั่วไป ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงอาจซ้ำกันได้ เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์แล้ว ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรม ซึ่งแม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อซึ่งอาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญาวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดอบรม แม้จะมีลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ และเมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เปรียบกับของจำเลยทั้งสามแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยต่างวางตำแหน่งรูปรอยประดิษฐ์ลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า “CONSULTANT” เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยทั้งสามไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษคำว่า “BUSINESS” เหนือคำว่า “CONSULTANT” แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “ADVANCE” เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้วยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญมาก ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอา ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 9, 15, 27, 31, 69, 70 และมาตรา 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 272
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ริบเอกสารประชาสัมพันธ์จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งสามใช้ในการกระทำความผิด คำขออื่นให้ยก ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) (2) ประกอบมาตรา 69 ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 นิยามคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งงานสร้างสรรค์ดังกล่าวผู้สร้างสรรค์จะต้องสร้างสรรค์ด้วยตนเอง กล่าวคือมิได้ลอกเลียนผู้อื่นและต้องใช้ความรู้ความสามารถสติปัญญาในระดับหนึ่งเพื่อจะก่อให้เกิดงานนั้น การที่นางสาวหทัยรัตน์กรรมการโจทก์เบิกความว่า เป็นผู้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์อันประกอบด้วย ชื่อหลักสูตร สาระสำคัญของหลักสูตร หัวข้อการอบรม อัตราค่าอบรม ชื่อวิทยากร และเอกสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะบอกให้ลูกค้าทราบรายละเอียดในการอบรมสัมมนา เพื่อเป็นข้อพิจารณาว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์อย่างไรเพื่อตัดสินใจเข้าอบรมสัมมนาหรือไม่ นางสาวหทัยรัตน์จัดทำหลักสูตรโดยนำข้อมูลมาจาก (1) ประสบการณ์ที่ได้จัดฝึกอบรมมาเป็นเวลา 13 ปี (2) จากการฝึกอบรมจึงทราบถึงปัญหา แนวทางการตอบปัญหาจากการรวบรวมคำถามที่มีการถามในระหว่างการฝึกอบรม (3) การติดตามกฎหมายภาษีอากรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (4) จากการเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่าง ๆ จึงทราบปัญหา (5) จากคำแนะนำของ ดร.อรรถพลสามีของนางสาวหทัยรัตน์เองซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี คณบดี บัณฑิตวิทยาลัย สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดังนั้น เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เป็นเอกสารสำคัญต่อการประกอบธุรกิจของโจทก์เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการของโจทก์ เป็นงานวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวม คัดเลือกและจัดลำดับเข้าด้วยกันโดยไม่ได้ลอกเลียนงานของผู้อื่น ทั้งยังนำข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมารวบรวมเรียบเรียงจัดลำดับใหม่เป็นหลักสูตรในการอบรมในเอกสารประชาสัมพันธ์ โดยความเพียรพยายามอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวนั้น เห็นว่า เอกสารประชาสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดสัมมนาขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าวไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้ออบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ล้วนเป็นรายละเอียดที่ต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์โดยทั่วไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนที่เป็น “หัวข้อการอบรม” ส่วนชื่อของหลักสูตรหรือหัวข้อของหลักสูตรอาจซ้ำกันได้ เป็นเรื่องที่บุคคลโดยทั่วไปต้องรับรู้ ใครก็สามารถจัดอบรมได้ ซึ่งนางสาวผ่องพรรณผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชายรองคณบดีฝ่ายการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นวิทยากรให้แก่โจทก์และบริษัทรับจัดฝึกอบรม กับนายสุพัฒน์ผู้สอบบัญชี รับอนุญาตเป็นวิทยากรเกี่ยวกับบัญชีและภาษีอากรต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า การจัดอบรมสัมมนา ชื่อ หัวข้อหลักสูตรสัมมนาของแต่ละสถาบันจะซ้ำกัน เป็นเรื่องที่สาธารณชนทั่วไปต้องรับรู้ แต่เอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละแห่งจะไม่ซ้ำกัน โดยมีรายละเอียดและเทคนิคการเชิญชวนให้คนสนใจเข้าร่วมสัมมนาต่างกัน ซึ่งนายสาธิตกรรมการบริษัทรุ่งศิลป์ โพลีพลาสท์ จำกัด ผู้เคยร่วมสัมมนากับโจทก์ก็เบิกความยืนยันความในข้อนี้ โดยเฉพาะนางสาวผ่องพรรณยืนยันว่า ชื่อหลักสูตรอาจซ้ำกันได้ ใครก็สามารถจัดอบรมได้ เช่น ชื่อเรื่อง “BALANCE SCORE CARD” มีการจัดหลายหน่วยงานด้วยกัน ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงซ้ำกันได้ ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์ โดยนางสาวผ่องพรรณเบิกความว่า ที่สำคัญคือการอบรมซึ่งหัวข้อการอบรมเกี่ยวกับการบัญชีใช้เวลาอบรม 18 – 27 ชั่วโมง กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรและการบัญชีประมวลรัษฎากรใช้เวลาอบรมจำนวน 9 ชั่วโมง เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เป็นเพียงเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจการของโจทก์เพื่อผลประโยชน์ของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเอกสารใช้ประกอบการอบรมหรือสัมมนา หรือเป็นเอกสารที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะสร้างสรรค์ขึ้นมา ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรมมีจำนวน 8 ชุด เฉลี่ยแล้วมีเนื้อหาประมาณ 22 บรรทัด เท่านั้น แม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อหลักสูตรที่อาจซ้ำกับบุคคลอื่น ๆ ดังกล่าว เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญา และความวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดการอบรม แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) (2) ประกอบมาตรา 69 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์เอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเปรียบเทียบกับของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่า แม้รูป รอยประดิษฐ์รูปโลกเอกสารประชาสัมพันธ์ทั้งของโจทก์และของจำเลยทั้งสามต่างวางตำแหน่งรูปลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า “CONSULTANT” เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม รูปลูกโลกของจำเลยทั้งสามจะไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ภาษาอังกฤษเหนือคำว่า “CONSULTANT” ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษว่า “BUSINESS” แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “ADVANCE” เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญ ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) คืนเอกสารให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share