แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การสู้คดีว่า มิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3อยู่ด้านหลังเช็คพิพาทและเมื่อลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่มีแล้ว การขีดฆ่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้มีการขีดฆ่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่ให้การสู้คดีไว้ และการที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกขีดฆ่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ด้านหลังเช็คพิพาทลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงมีอยู่ แต่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาทหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 150,000 บาทโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาคลองเตย เลขที่ 0489330ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 จำนวนเงิน 150,000 บาท มีจำเลยที่ 2และที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาโจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็ค 150,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยมิได้ลงวันที่สั่งจ่ายเพราะตกลงให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเพื่อแทนหลักฐานการกู้ยืมเงิน มิได้ให้นำไปเรียกเก็บเงินแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 115,000 บาท คงค้างอยู่เพียง 35,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็ค 150,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ให้การสู้คดีว่า มิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ด้านหลังเช็คพิพาทจึงไม่มีประเด็นว่า ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่อยู่ด้านหลังเช็คถูกขีดฆ่าหรือไม่ เพราะเมื่อลายมือชื่อของจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่มีแล้วการขีดฆ่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่าได้มีการขีดฆ่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลัง จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่ให้การสู้คดีไว้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกขีดฆ่าแล้วต้องถือว่าเช็คพิพาทไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3ดังที่ให้การสู้คดีไว้นั้น ก็เห็นว่า การที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2และที่ 3 ถูกขีดฆ่าไม่ได้หมายความว่าไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2และที่ 3 อยู่ด้านหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงมีอยู่ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาทหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง การไม่ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คกับลงชื่อสลักหลังแล้วมีการขีดฆ่าย่อมเห็นได้ว่าเป็นคนละประเด็นกัน หาใช่เป็นประเด็นเดียวกันอย่างที่จำเลยที่ 2และที่ 3 อ้างไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน