คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อเงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่เป็นค่าจ้าง ย่อมนำมารวมเข้ากับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้
อุทธรณ์จำเลยที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการ และตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย และอุทธรณ์จำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปี และลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่งของงานจำเลย ซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลย ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share