แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คพิพาทใช้หนี้โจทก์ และเป็นหนี้โจทก์ตามใบส่งของซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยนำเงินตามเช็คไปชำระ และโจทก์ได้รับอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ที่จำเลยส่งมาให้โดยไม่ระบุในใบรับว่าหักบัญชีหรือชำระหนี้รายไหน ดังนี้กรณีต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 โจทก์จัดสรรชำระหนี้ตามความพอใจของโจทก์ไม่ได้ ฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทซึ่งถึงกำหนดชำระ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 37,217 บาท 57 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทใช้หนี้ให้โจทก์ 4 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 จำนวนเงิน 69,600 บาท และเช็คเอกสารหมาย จ.8 จำนวนเงิน 42,000 บาท เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2519 ปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คเอกสารหมาย จ.14 จำนวนเงิน 22,000 บาท เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519 และปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คเอกสารหมาย จ.1 จำนวนเงิน 22,400 บาท เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2520 หนี้ตามใบส่งของตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.4 จำนวนเงิน 58,750 บาท โจทก์วางบิลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2519 โดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้วันที่ 24 ธันวาคม 2519 ส่วนหนี้ตามใบส่งของหมาย จ.10 หรือ ล.13 จำนวน 26,500 บาท จ.11 หรือ ล.12 จำนวนเงิน 35,000 บาท และ จ.3 หรือ ล.11 จำนวน 18,800 บาท ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์ยังไม่ได้วางบิลกำหนดวันให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 และเช็คเอกสารหมาย จ.8 แล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2519 ตามเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2519 จำเลยส่งมอบเคมีภัณฑ์อะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ จำนวน 3 ตัน ราคา 120,000 บาทชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับไว้แล้วตามเอกสารหมาย ล.8
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมอบอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ให้โจทก์ เพื่อไปใช้หนี้ตามเช็คพิพาทหรือเพื่อใช้หนี้ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.3 จ.9 จ.10 และ จ.11 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งเป็นใบรับอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ของโจทก์ซึ่งออกให้จำเลยแล้ว เห็นว่า ระบุไว้แต่เพียงว่า โจทก์ได้รับอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์จำนวน 3 ตัน เป็นเงิน 120,000 บาท ได้หักบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ซื้อยาจากห้างโจทก์ไป ไม่ได้ระบุว่าหักบัญชีหรือชำระหนี้รายไหน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนดก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน” ประกอบกับก่อนที่จำเลยจะส่งอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ไปให้โจทก์ โจทก์ได้ให้ทนายมีหนังสือเอกสารหมาย ล.7 มาถึงจำเลยบอกกล่าวให้จำเลยนำเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 กับ จ.8 ไปชำระให้โจทก์ดังกล่าวแล้วข้างต้น เห็นว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะนำอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ไปชำระหนี้ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.3 จ.9 จ.10 และ จ.11 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ ทั้งหนี้ตามเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 จ.8 และ จ.14 ถึงกำหนดชำระ และจำนวนเงินตามเช็คทั้งสามฉบับนี้ก็สูงกว่าราคาของอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ที่จำเลยส่งไปให้โจทก์ด้วย และโดยเฉพาะเช็คเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 กับ จ.8 ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยส่งอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ไปชำระหนี้ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.3 จ.9 จ.10 และ จ.11 นั้นก็เลื่อนลอย ไม่สมเหตุผล และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจนำอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ที่จำเลยส่งมาให้จัดสรรชำระหนี้ได้ตามความพอใจของโจทก์ โจทก์จะต้องจัดชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 ดังกล่าวข้างต้น รูปคดีมีเหตุผลฟังได้ว่า จำเลยส่งอะลูมินั่มไฮดรอกไซด์ไปให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.6 กับ จ.8 และ จ.14″
พิพากษายืน