คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยในคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา กลับเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนั้นเป็นจำเลยในคดีใหม่ด้วยเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) เพราะโจทก์ในคดีหลังนี้ไม่ใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3800 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านไม้เลขที่ 13 หมู่ที่ 14 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชันกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางละมูล แย้มเกษม ยกให้โจทก์ตามพินัยกรรม ส่วนบ้านอีกหลังไม่มีเลขที่โจทก์ปลูกสร้างด้วยทุนทรัพย์ของโจทก์เอง จำเลยได้เข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2511 หรือ 2512 โจทก์และผู้แทนโจทก์ได้เตือนให้จำเลยออกไปแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์ตามฟ้อง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3800จริง แต่บ้านไม้เลขที่ 13 และบ้านไม้อีกหลังหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเรือเอกเปลี่ยน แย้มเกษม ต่อมาเรือเอกเปลี่ยน แย้มเกษมถึงแก่กรรม เรือนนั้นจึงตกแก่จำเลยผู้เป็นทายาท จำเลยเข้าอยู่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์หรือผู้แทนไม่เคยเตือนจำเลยและบริวาร และจำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านเลขที่ 13 และบ้านไม้อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนหอซึ่งเรือเอกเปลี่ยน แย้มเกษมปลูกสร้างขึ้นเมื่อแต่งงานกับนางละมูล แย้มเกษมเมื่อการสมรสขาดจากกัน จำเลยในฐานะทายาทของเรือเอกเปลี่ยนแย้มเกษมมีสิทธิในโรงเรือนดังกล่าว และรื้อถอนโรงเรือนดังกล่าวได้

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า บ้านพิพาททั้งสอง หลังเลขที่ 13 เป็นสินเดิมของนางละมูล แย้มเกษม หลังไม่มีเลขที่โจทก์ปลูกสร้างด้วยเงินของโจทก์เอง ที่ดินปลูกบ้านดังกล่าวเป็นสินเดิมของนางละมูลตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกได้แก่โจทก์ตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นให้คู่ความนำสืบ คือ บ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย ถ้าเป็นของจำเลย จำเลยมีสิทธิรื้อถอนได้หรือไม่

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายว่า เรือนพิพาทตามฟ้องโจทก์จำเลยยังพิพาทกันอยู่ในคดีหมายเลขแดงที่ 5964 – 5965/2514ของศาลแพ่ง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้อีกในประเด็นอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามตามกฎหมาย

โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คดีหมายเลขแดงที่ 5964 – 5965/2514ของศาลแพ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว เมื่อโจทก์คดีนี้ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกับโจทก์คดีก่อนจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน และประเด็นที่ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านและที่พิพาท ส่วนประเด็นในคดีก่อนเป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งสินสมรสของเรือเอกเปลี่ยนและนางละมูล แย้มเกษม เป็นคนละประเด็นกัน ขอให้ยกคำร้องชี้ขาดข้อกฎหมาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายและงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ เป็นฟ้องซ้ำ (น่าจะเป็นฟ้องซ้อน) กับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 5964 – 5965/2514 ของศาลแพ่ง เพราะโจทก์ในคดีดังกล่าวไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน และประเด็นแห่งคดีก็ต่างกัน ขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น บังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีก่อน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำฟ้องคดีก่อนกับคดีนี้ เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่เพราะไม่อาจทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 5964 – 5965/2514 ของศาลแพ่ง แต่โจทก์นำพยานหลักฐานซึ่งได้อ้างในสำนวนคดีก่อนมาใช้อ้างอิงในคดีนี้ และโจทก์อ้างในคดีนั้นว่าเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเดียวกัน การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยก็ยอมรับในฎีกาแล้วว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5964 – 5965/2514 ของศาลแพ่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่ใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีก่อน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่ากรณีจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องด้วย มาตรา 144 หรือไม่นั้น เห็นว่าไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกายังไม่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share